Solar D : ซีอีโอ โซล่าร์ ดี เร่งผลักดันพลังงานทดแทนเป็นกระแสหลัก



Solar D : ซีอีโอ โซล่าร์ ดี
เร่งผลักดันพลังงานทดแทนเป็นกระแสหลัก



  จากการรายงานผลการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ภาพรวมธุรกิจพลังงานทดแทน (Renewable Energy) ของไทยมีแนวโน้มเติบโตขึ้น ด้วยเป้าหมายที่ภาครัฐต้องการผลักดันให้เกิดการทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลให้ได้ 20% ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย ในปี 2579

        ด้วยการผลักดันของการใช้พลังงานธรรมชาติของภาครัฐได้กลายเป็นทิศทางของการลงทุนของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมพลังงาน โดยในสายตาของคุณสัมฤทธิ์ สิทธิวราวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โซล่าร์ดี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ให้บริการ จำหน่ายและติดตั้ง Solar Roof เขามองว่าอนาคตการเติบโตของอุตสาหกรรมพลังงานจากธรรมชาตินั้นยังไปได้อีกไกล เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้พลังงานทดแทนในระบบอยู่เพียงแค่ 5%  และถึงแม้อุตสาหกรรมนี้เป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต แต่ก็ยังมีปัญหาและอุปสรรคที่ต้องรอการแก้ไขอยู่บ้าง ซึ่งนิตยสาร HUNT ได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณสัมฤทธิ์ สิทธิวราวงศ์ กับธุรกิจพลังงานมาฝากกัน



HUNT : ปัญหาของการเติบโตในธุรกิจพลังงานทดแทนคืออะไร
  ในฐานะที่ผมอยู่ในธุรกิจนี้ อุปสรรคและปัญหาที่เกิดขึ้นผมว่าอย่างแรกคือ ตัวผู้ประกอบการเอง ที่ต้องพัฒนาระบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความคุ้มค่าคุ้มราคาที่สุด ส่วนเรื่องที่สองคือ เรื่องของนโยบายจากภาครัฐที่ต้องรองรับและส่งเสริมการขยายตัวสำหรับเราที่เปิดให้บริการ Solar roof มาประมาณ 5 ปี ในเรื่องของการพัฒนาการทำงานให้มีประสิทธิภาพ คือการปรับกระบวนการหรือขั้นตอนในการทำงานให้มีขั้นตอนน้อยลง เช่น กระบวนการในการติดตั้ง ที่มีโอกาสในการสูญเสียหลายจุด ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญมาก สำหรับโซล่าร์ดี ซึ่งเป็นผู้ให้บริการ Solar Roof เป็นการติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคา เวลาติดตั้งจำเป็นต้องมีอุปกรณ์หลายร้อยชิ้น และมีขั้นตอนมากพอสมควร ดังนั้นการติดตั้งจึงต้องใช้ระยะเวลา อย่างการติดตั้งบนอาคารที่เป็นในรูปแบบธุรกิจ จะใช้เวลาในการส่งมอบราว 2-3 เดือน หากเป็นบ้านจะใช้เวลาในการส่งมอบ 2-3 วัน

        โดยเรามีการลดขั้นตอนในการติดตั้งให้เหลือน้อยที่สุด คือทำให้ขั้นตอนต่างๆ มัน Lean ที่ผ่านมาเรามีการนำระบบดิจิทัลเข้ามาใช้ มีการทำระบบหลังบ้านให้รองรับ ทั้งการคำนวณการติดตั้ง และอุปกรณ์ที่ต้องนำไปใช้ติดตั้งหน้างานให้มีจำนวนที่พอดี ไม่ทำให้เกิดการสูญเสีย ลดระยะเวลาในการติดตั้ง ทำให้การทำงานของเราจากเดิมสำหรับระบบอาคารที่ใช้เวลา 2-3 เดือน เหลือเพียงไม่กี่สัปดาห์ และการติดตั้งตามบ้าน ไม่เกิน 1 วัน 



HUNT : การสนับสนุนในเรื่องของนโยบายรัฐคิดว่าควรเป็นอย่างไร
  เมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว รัฐเคยมีโครงการขายไฟฟ้าให้กับรัฐ โดยทุกหน่วยที่ผลิตได้ขายคืนให้การไฟฟ้าทั้งหมด โครงการนี้เจ้าของอาคารชอบมาก เพราะรัฐรับซื้อในราคาประมาณ 7 บาทกว่าต่อยูนิต ในขณะนี้ราคาไฟฟ้าปกติอยู่ที่ 4 บาทกว่าต่อยูนิต ส่วนต่างที่เกิดขึ้นก็ต้องมีคน subsidize ไป เนื่องจากเป็นโครงการที่ต้องใช้เงินมาสนับสนุน จึงกลายเป็นเรื่องยาก ทำให้โครงการนี้ต้องจบไปในระยะเวลาอันรวดเร็ว แต่ล่าสุด คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีการทำแผนนำร่องรับซื้อโซลาร์ภาคประชาชน 100 เมกะวัตต์ ปี 2562 โดยระหว่างวันที่ 18 มีนาคมจนถึงวันที่ 1 เมษายน 2562 มีการเปิดรับฟังความเห็นประชาชน พร้อมให้โควตาการไฟฟ้านครหลวงรับซื้อ 30 เมกะวัตต์ และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 70 เมกะวัตต์ กำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าอยู่ที่ 1.68 บาทต่อหน่วย ส่วนวิธีการรับซื้อจะใช้ระบบใครยื่นก่อนได้ก่อน (First come First serve) ผ่านระบบ Online ของทั้งสองการไฟฟ้า

        โครงการของ กกพ. ที่กำลังจะเกิดขึ้นภายในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ มองว่า ไม่น่าจะกระตุ้นตลาดซักเท่าไร เนื่องจาก ราคาต่อหน่วยี่รัฐตั้งไว้ 1.68 บาท เป็นราคาที่ต่ำกว่าปกติ ที่คิดอยู่ที่ 4 บาทกว่า ทำให้ลูกค้าได้ประโยชน์น้อย เพราะฉะนั้นจึงไม่น่าจะผลักดันอะไรได้มากนัก

เรื่องของพลังงานไฟฟ้าทดแทน เป็นพลังงานที่เก็บยาก เพราะต้นทุนการจัดเก็บสูง แม้จะมีความพยายามในการผลักดันเรื่องของ Energy Storage แต่ขณะนี้ราคายังสูงมาก และการกักเก็บยังทำได้จำนวนไม่มากนัก เพราะฉะนั้นสิ่งที่แก้ปัญหาได้ คือการแชร์กระแสไฟฟ้าในส่วนนี้ เหมือนธุรกิจ Sharing Economy อื่นๆ เช่น อูเบอร์, แกร๊บ หรือแอร์บีแอนด์บี(Airbnb) แต่เรื่องนี้ยังเป็นแค่แนวคิด การแชร์ไฟฟ้าก็คือการแชร์เข้าสายส่ง คนที่เป็นเจ้าบ้านคือเจ้าของสายส่งจะเป็นคนเก็บค่าผ่านทางเหมือนการใช้ทางด่วน ผู้ที่ต้องการใช้สายส่งก็จ่ายเงินตามระยะทางการใช้ ยิ่งระยะทางยาว ก็ยิ่งจ่ายแพง ปัญหาตอนนี้คือผู้ที่ติดตั้งโซลาร์ลูฟหากต้องการกักเก็บพลังงานไว้ใช้ ยังต้องจ่ายค่า Energy Storage ที่สูง ทำให้รับไม่ไหว กลางวันไม่มีคนอยู่บ้าน และพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จะทำอย่างไร เมื่อไม่สามารถกักเก็บพลังงานไฟฟ้าได้ ไฟฟ้าก็จะไหลกลับเข้าสาย จะทำให้มิเตอร์หมุนกลับ ซึ่งกาารตีกลับของมิเตอร์ในลักษณะนี้ รัฐก็ยังไม่ยอมรับ ต่างจากบางประเทศมีการเริ่มนำมิเตอร์ที่มีการวัดไฟเข้า วัดไฟออก แล้วสามารถหักลบค่าใช้จ่ายได้เลย ทำให้ระบบพลังงานไฟฟ้าทดแทนของประเทศเหล่านั้นเติบโต


HUNT :  ทางออกของเรื่องนี้
         หากทำให้พลังงานไฟฟ้าเป็น Sharing Economy ธุรกิจนี้จะเติบโตแน่นอน แต่ยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะเป็นเรื่องของนโยบาย ซึ่งต้องมาจากแรงสนับสนุนของภาครัฐ ซึ่งในต่างประเทศบรรดาผู้ประกอบการธุรกิจพลังงานทดแทนจะมีการรวมตัวกัน และช่วยกันผลักดัน แต่บ้านเราการรวมตัวของผู้ประกอบการเพื่อผลักดันนโยบายภาครัฐยังทำได้ช้า ถึงแม้จะมีนโยบายใหม่ รับซื้อในราคา 1.68 บาท ก็ทำให้ดีขึ้นไม่มาก เพราะได้ประโยชน์น้อย

         อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของโซล่าร์ดี คือความพยายามผลักดันให้พลังงานไฟฟ้าทดแทนเกิดเป็นกระแสหลักให้ได้ โดยจะพยายามพัฒนาตัวเองก่อน เริ่มจากการผลิตพลังงานไฟฟ้าให้ได้ปีละ 50 เมกกะวัตต์ จากปัจจุบันที่ทำได้ปีละ 15-20 เมกะวัตต์  ซึ่งจะทำควบคู่ไปกับการ Lean กระบวนการติดตั้ง เพื่อลดต้นทุน และทำให้ลูกค้าคุ้มทุนกับการติดตั้งให้มากที่สุด ขณะเดียวกัน ก็มีการดีไซด์รูปแบบการติดตั้ง เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับลูกค้า ••

cr: HUNT Magazine

    







Comments