จักรพันธ์ ธนานาถ
คุณภาพคน คือจุดสำคัญของการพัฒนา
...
ปัจจุบันประเทศไทยเรียกได้ว่าอยู่ในช่วงของหัวเลี้ยวหัวต่อของการพัฒนา จากอุตสาหกรรม 1.0
สู่อุตสาหกรรมไฮเทค ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ภาคเอกชนส่วนใหญ่ต่างก็เดินหน้าในการพัฒนาองค์กรให้รองรับกับทิศทางของการพัฒนา ในฐานะของผู้ประกอบการผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของระบบลมอัด น้ำ และก๊าซ มามากกว่า 25 ปี บริษัทดอมนิค ฮันเตอร์-อาร์แอล (ประเทศไทย) จำกัด เองก็ได้วางตัวเองให้ก้าวตามการพัฒนาของประเทศอย่างเต็มกำลัง ถึงกับมีการประกาศวิสัยทัศน์ของบริษัทว่า พวกเราดอมนิค ฮันเตอร์ ขอประกาศของการเป็นองค์กรที่เป็นหนึ่งเดียว พวกเรามีพันธะสัญญาของการเป็นผู้นำด้านสินค้าอุตสาหกรรม และการบริการชั้นเลิศแบบครบวงจร เพื่อนำพาดอมนิค ฮันเตอร์ และประเทศไทยสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0
แต่การพัฒนาองค์กรเพื่อก้าวไปพร้อมกับการเติบโตของประเทศไทย คุณจักรพันธ์ ธนานาถ กรรมการผู้จัดการบริษัท ดอมนิค ฮันเตอร์-อาร์แอล (ประเทศไทย) จำกัด ก็ได้ให้ความเห็นของการพัฒนาว่า คน คือ ปัจจัยสำคัญ จนเรียกได้ว่าเป็นตัวชี้ขาดของความสำเร็จ
“ในการทำงานทุกวันนี้ ผมถือว่าพนักงานทุกคนคือคนในครอบครัว ทุกวันนี้ผมทุ่มเทในการสร้างผู้บริหารรุ่นต่อไป เพื่อให้ลูกน้อง และลูกของลูกน้องของผมได้มีบริษัทที่พวกเขาสามารถทำงานไปได้ตลอดชีวิต หากผมไม่อยู่แล้ว พวกเขาก็ยังสามารถมีอนาคตกับบริษัทต่อไปได้ ผมหวังไว้ว่าอีก 5 ปีข้างหน้า บริษัทดอมนิค ฮันเตอร์-อาร์แอล (ประเทศไทย) จำกัด จะเติบโตขึ้นอีกเท่าหนึ่ง ซึ่งก็รวมถึงรายได้ที่เพิ่มเข้ามาอีกเท่าหนึ่งเช่นเดียวกัน”
เป้าหมายของดอมนิค ฮันเตอร์-อาร์แอลฯ คือการขยายการบริการและจำหน่ายสินค้าเพื่อรองรับอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโต คือ อุตสาหกรรมอาหาร ยา และเครื่องสำอาง โดยมีการเพิ่มไลน์สินค้าที่เป็นนวัตกรรมเพื่อสร้างประสิทธิภาพให้กับระบบผลิตของลูกค้า ซึ่งสินค้าและบริการของบริษัทดอมนิค ฮันเตอร์-อาร์แอล (ประเทศไทย) จำกัด ปัจจุบันได้รับการยอมรับจากบริษัทชั้นนำของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ปตท.,น้ำตาลมิตรผล, บริษัทซีเกท รวมไปถึงองค์การเภสัชกรรม ฯลฯ
นอกจากการเพิ่มสินค้าคุณภาพแล้ว สิ่งสำคัญคือการพัฒนา “คน” ซึ่งคุณจักรพันธ์ให้ความเห็นถึงคุณภาพของคนไว้ว่า “การทำงานในอนาคต ผมก็วางแผนในการขยายงาน และขยายในเรื่องของการจัดหาสินค้าที่มีคุณภาพในระดับมาตรฐานโลก ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้บริษัทเราได้รับการยอมรับมาตลอดยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา ผมมีแผนในการขยายตัวไปขายสินค้าบางตัวที่เราสามารถขายให้กับโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศเพื่อนบ้านได้ อย่างประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ ผมก็มองไว้เหมือนกัน สิ่งที่ผมทำก็คือนอกจากทำเพื่อครอบครัว เพื่อตัวเอง และก็เพื่อประเทศชาติ
แต่สิ่งที่ผมพบในการทำงาน ผมคิดว่าคนไทยเป็นคนที่รักสบาย การได้ไปทำงานในต่างประเทศ หากเป็นคนต่างชาติ เขาจะถือว่านี่เป็นโอกาสที่เขาจะต้องคว้าไว้ แต่สำหรับคนไทย ยังไม่ค่อยสนใจ เพราะอยู่บ้านเรามันสบาย การที่เด็กเราเป็นอย่างนั้นจะบอกว่าเป็นผลจากระบบการศึกษาทั้งหมดก็คงไม่ใช่ แต่อาจจะมีส่วนบ้าง
สิ่งที่ผมเห็นจากที่ได้สัมผัส ผมคิดว่าเด็กจะเรียนอะไรก็ได้ แต่ขอให้ตั้งใจ และคนที่ได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง หรือสอง เวลามาสมัครงานกับผม ผมรับหมด เพราะพนักงาน 7-8 คนที่มาทำงานด้วย เขาพิสูจน์แล้วว่าเด็กเกียรตินิยมนี่ทำงานดีทุกคน เพราะฉะนั้นผมไม่รู้เขาเรียนอะไรมา ผมรับ ผมว่าเขาสุดยอด คือจบเกียรตินิยมมา 99 เปอร์เซ็นต์ ชัวร์ คือผมมองว่า ณ วันที่เขาเรียน หน้าที่ของเขาคือเรียน เขาก็ทำได้ยอดเยี่ยม เมื่อเขาทำงาน หน้าที่ของเขาคืองาน เขาก็ต้องทำได้ยอดเยี่ยม ซึ่งเขาก็ทำได้ เป็นการการันตีได้
ในเรื่องของการพัฒนาคน สำหรับผม ผมกลัวประเทศเดียวคือ เวียดนาม เขาแข็งแรงกว่าเรา เขายอมทำงานมากกว่าเรา เราทำงาน 8 ชั่วโมง เขายอมทำ 12 ชั่วโมง เขาพยายามศึกษาเพิ่มเติม คือคนของเขาขยันมาก โชคร้ายของเขาคือชัยภูมิของเวียดนามจะโดนพายุตลอดเวลา แต่ถ้าพูดถึงคน คนเวียดนามมีคุณภาพมาก
ผมเคยคุยกับเพื่อนชาวกัมพูชา วิศวกรชาวกัมพูชาที่จบวิศวกร เงินเดือนที่พนมเปญแค่ 250 เหรียญ หรือประมาณ 7-8 พันบาท ขณะที่ของเราจบใหม่ยังต้องจ่ายหมื่นเจ็ด หมื่นแปด ข้อที่สุดยอดของวิศวกรกัมพูชาคือพวกเขาพูดภาษาอังกฤษได้หมด นี่ผมยังอยากได้วิศวกรกัมพูชามาทำงานด้วยสัก 2-3 คน ก็เข้าท่า ส่วนคนไทยจะพัฒนาให้เขาพูดภาษาอังกฤษได้ ยังไม่รู้ว่าต้องจ้าง หรือต้องทำอย่างไร นอกจากเขาจะสนใจเอง เราจะให้เขาไปเรียน เขาก็บอกว่าผมไม่ได้ใช้ครับ จะทำอย่างไรที่เร่งให้คนของเราพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น เพื่อที่จะทำให้ประเทศ รวมทั้งตัวเราเดินไปข้างหน้าได้เร็วกว่านี้
ในความเห็นของผม คนไทยส่วนหนึ่งเอาแต่ง่าย ไม่ใช่เอาแต่ได้นะ คือเราชอบเลือกอะไรที่ง่ายๆ ไม่ค่อยได้พยายามที่จะทำอะไรให้สำเร็จอย่างเต็มที่ ผมคิดว่าถ้าทุกคนพยายามมากขึ้นอีกคนละนิด ประเทศเราจะไปไกลกว่านี้อีกมาก ซึ่งผมมองว่านี่เป็นการเสียโอกาสไม่ใช่แค่ตัวเอง หรือบริษัทที่เสียโอกาส แต่ประเทศก็เสียโอกาสไปด้วย”
นอกจากการพัฒนาคนให้มีคุณภาพ เพื่อผลักดันให้ประเทศได้ก้าวไปอย่างที่วางแผนไว้ ทิศทางการส่งเสริมในเรื่องของ EEC ก็เป็นนโยบายที่คุณจักรพันธ์ เห็นความสำคัญ และสิ่งที่ต้องระวังการซ้ำรอยก็ยังมีอยู่
“ผมว่า EEC มาถูกทาง เพียงแต่ขอให้ประเทศเราทำจริงๆเถอะ โอกาสมันจะเกิดขึ้นอีกเยอะ ในเรื่องโลจิสติกส์ ในเรื่องของการบิน อิเลคทรอนิคส์ เราก็ยังแข็งแรงอยู่ ไม่รู้ว่าทราบกันหรือเปล่าว่าตอนนี้ประเทศไทยเป็นเมืองแห่งฮาร์ดไดร์ฟของโลก ไม่ว่าจะเป็นซีเกท หรือเวสแทิร์น ดิจิตอล ที่ย้ายฐานการผลิต 70-80% มาทำในประเทศไทย แม้จะเป็นงานที่เรียกว่า Lobor Intensive หรือการใช้แรงงานมากกว่า แต่แรงงานไทยมีความสามารถ เพียงแต่ค่าแรงเราก็ยังถูกอยู่ เขาก็ยังเอางานที่ต้องใช้มือคนทำเข้ามา อย่างตอนที่น้ำท่วม ตลาดฮาร์ดไดร์ฟของโลกก็เรียกได้ว่าแทบจะเจ๊งไปเลย เรื่องน้ำท่วมสำหรับผมเป็นเรื่องที่น่ากลัวที่สุดในการทำอุตสาหกรรมในประเทศไทย เพราะถ้าท่วมอีกครั้ง เขาย้ายไปประเทศอื่นแน่นอน ก็จะเหลือแต่อุตสาหกรรมที่ทำสำหรับตลาดในเมืองไทย แต่สินค้าที่ทำเพื่อส่งออกก็อาจจะหายไป ผมเชื่อว่าปีนี้ก็มีความเสี่ยงของอยุธยา แต่ผมเชียร์ว่ารอด แต่อยุธยาอาจมีนิดหน่อย ระยองน่าจะไม่ท่วมนะ แต่อะไรมันก็เกิดขึ้นได้ คือเรื่องน้ำท่วมสำคัญที่สุด อุตสาหกรรมเราจะลำบากทันที” ••
Comments