ก้าวข้ามหลุมพราง เผชิญหน้าความท้าทาย เพื่อพัฒนาทักษะด้าน Internet of Things




ก้าวข้ามหลุมพราง เผชิญหน้าความท้าทาย
เพื่อพัฒนาทักษะด้าน Internet of Things


อุตสาหกรรมแห่งอนาคตมาพร้อมกันกับกระบวนการผลิตที่ “ยกระดับด้วยระบบอัตโนมัติ ผ่านการเชื่อมต่อระหว่างกัน” มากยิ่งขึ้น เครื่องมือและเทคโนโลยีต่างๆ มีความแตกต่างจากในปัจจุบัน และได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งตอบสนองต่อความต้องการของมนุษย์ได้อย่างตรงจุด
อีกไม่นานเกินรอ เราคงจะได้เห็นภาพเครื่องจักรอัจฉริยะที่สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่างๆ ได้โดยอัตโนมัติ
ดังนั้น เทคโนโลยีสำคัญที่จะทำให้อุตสาหกรรมใหม่นั้นเกิดขึ้นได้คือ The Internet of Things (IoT) ที่เราทุกคนควรหันมาให้ความสำคัญ และพัฒนาทักษะ หรือ Skills เพื่อสอดรับกับเทคโนโลยีดังกล่าว

Challenges : องค์กรต้องพบความท้าทายในการพัฒนา IoT Skill
ในการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะด้าน IoT องค์กรไม่ได้ต้องเผชิญเพียงแค่การหาแนวทางเพิ่มทักษะให้แก่บุคลากรเท่านั้น แต่จำเป็นต้องก้าวข้ามความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องกำลังแรงงาน รวมทั้งโปรแกรมการพัฒนาทักษะบุคลากรด้วย

Up-skilling: การยกระดับทักษะเดิมให้มีประสิทธิภาพขึ้น
องค์กรต้องเผชิญกับความท้าทายในการยกระดับทักษะด้าน IoT ให้แก่กำลังแรงงานในภาคส่วนต่างๆ ด้วยวิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การอบรมภายใน หรือการฝึกอบรมจากวิทยากรนอกองค์กร ตัวอย่างเช่น พนักงานในไลน์การผลิตสินค้าควรจะได้รับการพัฒนาทักษะด้าน Robot หรือเครื่องมืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้นำมาประยุกต์ใช้ในงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความท้าทายในประเด็นดังกล่าวได้อย่างชัดเจน คือปัญหาที่เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว อันประกอบด้วย บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย, จีน, และแอฟริกาใต้ หรือที่คุ้นหูกันในชื่อ BRICS จากการสำรวจพบว่า นักเรียนในกลุ่มประเทศ BRICS ยังขาดทักษะในการปฏิบัติ หรือทักษะด้านเทคนิค และยังไม่สามารถนำมาปรับใช้ได้จริงในการทำงาน ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดจาก “ความไม่เชื่อมโยงกันระหว่างภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม” ส่งผลให้นักเรียนขาดโอกาสในการพัฒนาทักษะที่เหมาะสมกับยุคสมัย

Re-skilling: การเพิ่มเติมทักษะใหม่
เมื่ออุตสาหกรรม 4.0 มาพร้อมกับความไม่แน่นอน ตำแหน่งงานในบางตำแหน่งอาจไม่ได้เป็นที่ต้องการของตลาดอีกต่อไป และอาจถูกแทนที่ด้วยตำแหน่งงานอื่นๆ องค์กรจึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อมการลงทุนในการเพิ่มเติมทักษะใหม่ให้แก่บุคลากร ให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้

Continuous Learning: การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
เทคโนโลยีบางอย่างอาจจะล้าสมัยไปในชั่วพริบตา สิ่งที่องค์กรต้องให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วนคือการปรับปรุงกลยุทธ์การพัฒนาองค์กรอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในขณะนี้

Mindset change: การเปลี่ยนแนวคิด
เมื่อบุคลากรในองค์กรถูกบังคับให้ต้องปรับตัวให้สอดรับกับโลกยุคโลกาภิวัฒน์ แน่นอนว่าบางครั้งต้องเกิดการต่อต้านในการรับเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ องค์กรจึงจำเป็นต้องวางแผนและเตรียมกลยุทธ์เพื่อสร้างแนวคิดใหม่ๆ ให้กับบุคลากร

Pitfalls : สำรวจหลุมพรางที่ขัดขวางไม่ให้โปรเจคการพัฒนา IoT ประสบความสำเร็จ
องค์กรจำนวนไม่น้อยมองเห็นโอกาสในการนำ IoT เข้ามาใช้ในการดำเนินธุรกิจ อาจเพราะมองเห็นว่าจะเป็นช่องทางที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ แบบก้าวกระโดด แต่ในขณะเดียวกัน หากปราศจากการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ไม่แน่ว่าจากการคาดการณ์ว่าองค์กรจะ “รุ่ง” อาจกลายเป็น “ร่วง” ได้
Steve Brumer ซึ่งเป็นพาร์ทเนอร์ของบริษัทในอุตสาหกรรม IoT ได้กล่าวถึงหลุมพรางที่อาจก่อให้เกิดข้อผิดพลาดในการดำเนินกิจกรรมโปรเจคด้าน IoT เพื่อให้องค์กรต่างๆ เพิ่มความระมัดระวังกันมากขึ้น

1. ขาดการสนับสนุนจากผู้บังคับบัญชา และขาดแนวทางในการชี้นำ
โปรเจคในการพัฒนา IoT  อาจไม่ประสบความสำเร็จ  เพราะไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้บังคับบัญชาหรือผู้บริหารในองค์กร  หนึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การปรับปรุงเมืองไปสู่การเป็น Smart City ด้วย IoT ในบางครั้ง สภาเทศบาลเมืองอาจจะรับรองและสนับสนุนการสร้างเมืองในรูปแบบอัจฉริยะในช่วงแรก แต่ต่อมาเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โปรเจคการพัฒนาเมืองต่างๆ ก็ต้องหยุดชะงัก และขาดความต่อเนื่อง ประเด็นนี้ยังกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้การพัฒนาเมืองโดยใช้เทคโนโลยี IoT ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ทุกคนคิดไว้

2. ตกหลุมพรางด้วยภาพที่เกินความเป็นจริง
องค์กรจำนวนไม่น้อยกำลังประสบกับปัญหาใหญ่ เนื่องจากจำเป็นต้องดิ้นรนเพื่อสร้างรายได้จากตลาดด้าน Internet of Things ซึ่งก่อนหน้าที่จะเข้าสู่ตลาดดังกล่าว องค์กรล้วนแต่คิดว่าเป็นสิ่งที่ง่าย และสามารถทำได้ภายใต้ความสามารถของตัวเอง แต่อย่างไรก็ตาม การจะปรับปรุงและพัฒนาธุรกิจให้เป็นธุรกิจที่รองรับ IoT อย่างเต็มตัวนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับมือใหม่ องค์กรเหล่านี้มักจะได้รับคำแนะนำจากคนอื่นๆ ให้ลองใช้เทคโนโลยี IoT หรือแม้แต่เปลี่ยนรูปแบบทางธุรกิจ และกระโดดเข้ามาร่วมวงในตลาดด้านนี้กันอย่างไม่คิดหน้าคิดหลัง สิ่งที่ตามมาคือ ความยากลำบากในการดำเนินธุรกิจให้สามารถก้าวข้ามหลุมพรางที่ตนเองคิดไว้ในตอนแรกให้ได้นั่นเอง

3. ไม่ให้ความสำคัญกับเรื่อง “การบูรณาการ”
สำหรับในแง่มุมด้านอุตสาหกรรมและธุรกิจ เทคโนโลยี Internet of Things ก็เหมือนกับภาพจิ๊กซอว์ที่ต้องเรียนรู้ที่จะ “เชื่อมโยง” ทุกสิ่งเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นประเด็นในด้านความปลอดภัย ไปจนถึง Machine Learning นอกจากนี้ แพลตฟอร์มในการทำงานด้าน IoT ยังมีมากกว่า 100 แพลตฟอร์ม ให้เลือกนำมาปรับใช้ มีทั้งแพลตฟอร์มที่ยังไม่สมบูรณ์แบบ และยังต้องได้รับการพัฒนาอยู่ ดังนั้น บริษัทที่จะประสบความสำเร็จ คือบริษัทที่รู้จักการ “บูรณาการ” เลือกรับ และปรับใช้เทคโนโลยีต่างๆให้สอดคล้องกับขีดความสามารถของตนเอง

4. ต้องมีความตั้งใจในการดำเนินธุรกิจด้าน IoT
ในปี 2018 ที่ผ่านมานี้ มีแพลตฟอร์ม IoT หลากหลายแพลตฟอร์มที่ไม่สามารถติดตามผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากองค์กรที่เข้าสู่ธุรกิจในตลาด IoT อย่างเต็มตัวยังไม่เข้าใจสถานการณ์การแข่งขันที่รุนแรงของอุตสาหกรรมด้านนี้ Brumer เล่าจากประสบการณ์ส่วนตัวว่า หลายครั้งที่เขาได้ถามนักธุรกิจหน้าใหม่ที่อยากเข้ามาลงทุนในตลาด IoT เพื่อให้นักธุรกิจเหล่านั้นได้ตระหนักว่า จะทำอย่างไรให้บริษัทของตัวเองนั้นสามารถแข่งขันกับบริษัทเป็นร้อยๆ ในตลาดเดียวกันได้ รวมทั้งจะทำอย่างไรให้สามารถพัฒนาแพลตฟอร์ม IoT ให้กลายเป็น “White Label” หรือบริษัทที่สร้างโฮสต์ติ้ง หรือแพลตฟอร์มให้ผู้อื่นเข้ามาใช้งาน ปรับธุรกิจให้กลายเป็น “ผู้นำ” มากกว่า “ผู้ตาม”

ในยุคที่อุตสาหกรรมแห่งอนาคตมาพร้อมกับเทคโนโลยีอันล้ำสมัย บางองค์กรเน้นความสำคัญกับการพัฒนาเฉพาะด้านเทคโนโลยี เพื่อให้สามารถก้าวทันโลกได้ โดยลืมไปว่าการพัฒนาทักษะบุคลากร รวมถึงปลูกฝังแนวคิดในการรับมือความเปลี่ยนแปลงไปพร้อมๆ กันก็เป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้ และจะช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมก้าวไปสู่อนาคตได้อย่างยั่งยืน ••

Reference: http://www.ioti.com/industrial-iot-iiot/5-pitfalls-can-hold-back-industrial-iot-projects
http://www.globalskillsummit.com/Whitepaper-Summary.pdf

HUNT Magazine Issue 49

Comments