วันนี้ของนิสสัน ล้มแล้วลุกสู้ไม่ถอย! ...ผลักดันรถไฟฟ้าเต็มสูบ...



วันนี้ของนิสสัน ล้มแล้วลุกสู้ไม่ถอย!
...ผลักดันรถไฟฟ้าเต็มสูบ...                    


วงการอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยกำลังถึงจุดเปลี่ยนที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ นั่นคือการเปลี่ยนพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลมาสู่พลังงานไฟฟ้า และแน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงย่อมสร้างความกังวลและคำถามมากมาย นั่นไม่แปลก..เพราะไม่มีใครรู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่เราสามารถสร้างอนาคตได้ด้วยแนวความคิดและจินตนาการที่อยู่บนพื้นฐานความเป็นไปได้..นี่เป็นคำพูดที่พอจะจำได้จากปากของวิศวกรฝรั่งที่ทำงานให้ญี่ปุ่น เมื่อครั้งไปทดลองขับนิสสัน ลีฟ ที่เกาะเตเนริเฟ ประเทศสเปน เมื่อช่วงเวลาเดียวกันนี้ของปีที่แล้ว ผ่านมา 1 ปี เป็นช่วงเวลาที่เหนื่อยยากของนิสสัน ค่ายรถยนต์ที่เคยเป็นแชมป์ยอดขายอันดับหนึ่งของไทย

แต่เชื่อไหมว่าทีมงานของนิสสันทั้งไทยและต่างประเทศ ไม่เคยหยุดที่จะก้าวเดินไปข้างหน้า ยังคงพร้อมใจกันก้าวผ่านอุปสรรคของยุคสมัย ต้องยอมรับในหัวจิตหัวใจจริงๆ ที่เกริ่นมาขนาดนี้อยากให้เข้าใจว่า แต่ละขั้นตอนกว่าที่จะเข็นรถรุ่นใหม่ออกสู่ตลาดไม่ใช่เรื่องง่ายๆ และเมื่อรถถึงมือผู้ใช้งานแล้ว ยังจะต้องมีเรื่องงานบริการอีกไม่รู้จบ ยิ่งตอนนี้กำลังเข้าสู่ยุคของการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานเชื้อเพลิง ยิ่งท้าทายแบบสุดๆ

ย้อนกลับไปเมื่อปี 1947 หรือเมื่อ 72 ปีที่ผ่านมา รู้หรือไม่ว่านิสสันเคยสร้างรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้ามาแล้ว (แต่จะพูดว่าเป็นของนิสสัน 100% ก็พูดไม่เต็มปาก ถือว่าเป็นของนิสสันนั่นแหละ) ผู้อ่านคงรู้ว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่แพ้พ่ายในศึกสงครามโลกครั้งที่ 2 และประสบกับปัญหาใหญ่ทั้งการฟื้นฟูบ้านเมือง ทรัพยากรธรรมชาติขาดแคลน แถมยังต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมหาศาล แต่รถยนต์ยังเป็นยานพาหนะสำคัญที่ช่วยในการฟื้นฟูเมือง ซึ่งมีโรงงานผลิตเครื่องบินรบชื่อว่า Tachikawa Aircraft ได้เปิดโรงงานขึ้นมาใหม่ชื่อว่า Tokyo Electro Automobile เพื่อสร้างรถยนต์ที่ใช้พลังงานจากไฟฟ้า ทำให้ไม่ต้องใช้น้ำมันเชื้อเพลิง เพราะมีราคาแพง นั่นเป็นจุดกำเนิดของ “Tama” รถกระบะพลังไฟฟ้ามีมอเตอร์ที่ผลิตพละกำลังได้ 4.5 แรงม้า และใช้แบตเตอรี่แบบ Lead-Acid หรือแบตเตอรี่ตะกั่วนั่นเอง โดยออกแบบให้อยู่ใต้ท้องรถ สามารถบรรทุกของหนักถึง 500 กิโลกรัม และทำความเร็วได้ 33 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในยุคนั้นถือว่าไม่ธรรมดาเลยทีเดียว

จากนั้นมีการผลิตรถแบบ 4 ที่นั่งตามมา ซึ่งพัฒนาให้ทำความเร็วได้มากขึ้น และขับได้ไกล 64 กิโลเมตร จากการชาร์จไฟฟ้าเต็ม 1 ครั้ง และมีการผลิตรถไฟฟ้าขนาดเล็กออกมาอีก 2 รุ่น กระทั่งปี 1951 Tokyo Electro ได้ควบรวมกับ Prince Motor และถูกนิสสันซื้อกิจการไปในปี 1966 จากจุดนี้เอง คือที่มาของรากเหง้าการพัฒนารถขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า มาสู่ นิสสัน ลีฟ (Leaf) รุ่นล่าสุด และเป็นรถไฟฟ้าแบบ BEV หรือใช้พลังงานจากแบตเตอรี่มาขับเคลื่อนมอเตอร์ไฟฟ้าในการเคลื่อนที่เพียงอย่างเดียว พ่วงด้วยเทคโนโลยีการขับแบบกึ่งอัตโนมัติอย่างที่เห็นกันในวันนี้
ช่วงเวลากว่า 7 ทศวรรษ ของรถไฟฟ้าคันแรกมาถึงวันนี้ พอจะทำให้นึกภาพออกว่านิสสันซุ่มพัฒนาอะไรมาบ้าง ถึงได้มั่นใจกับการเดินหน้าเต็มสูบสู่การสร้างสังคมของการใช้รถพลังงานไฟฟ้ามาทดแทนรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ที่กำลังถูกมองว่าเป็นตัวทำลายสิ่งแวดล้อม และชั้นบรรยากาศ แต่นิสสันจะไม่สามารถยืนหยัดได้ถ้าไม่มีผู้สนับสนุนสำคัญอย่างผู้ใช้รถนั่นเอง หากมองการเติบโตของรถไฟฟ้าอย่างนิสสัน ลีฟ ล่าสุดมียอดขายรวมมากถึง 400,000 คัน นับตั้งแต่เริ่มขายรุ่นแรกเมื่อปี 2010 กลายเป็นรถพลังงานไฟฟ้า 100% ที่ขายดีที่สุดในโลก โดยมียอดขายส่วนใหญ่อยู่ในยุโรปและอเมริกา ปีนี้นิสสันยังทยอยเปิดตัวรถพลังงานไฟฟ้าในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย ได้แก่ ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, สิงคโปร์, เกาหลีใต้, ฮ่องกง, มาเลเซีย รวมทั้งประเทศไทย


ล่าสุดภายในงาน Nissan Futures ที่เกาะฮ่องกง เป็นงานที่รวมผู้นำอุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่รัฐ และสื่อมวลชนจากทั่วภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย มาร่วมหารือเกี่ยวกับวิธีการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนผ่านการใช้พลังงานไฟฟ้าของยานพาหนะ และการทำให้เทคโนโลยีการขับขี่ขั้นสูง (การขับแบบอัตโนมัติ) เข้าถึงได้ง่ายขึ้น นิสสันได้ชูเรื่องของนิสสัน ลีฟ ที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของนิสสัน อินเทลลิเจนต์ โมบิลิตี้ (Nissan Intelligent Mobility) และเป็นวิสัยทัศน์ของนิสสันในการขับเคลื่อนผู้คนไปสู่โลกที่ดียิ่งขึ้น ด้วยการเปลี่ยนการใช้พลังงาน การขับขี่ และการเชื่อมต่อกับสังคม รวมทั้งเทคโนโลยี อี-เพาเวอร์ 
(e-POWER) ที่จะเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อรถพลังงานไฟฟ้าในภูมิภาคนี้ ซึ่ง อี-เพาเวอร์ เป็นเทคโนโลยีที่เป็นกรรมสิทธิ์ของนิสสันที่ช่วยให้ผู้ขับขี่ได้สัมผัสถึงประโยชน์ของรถพลังไฟฟ้า ที่ไม่จำเป็นต้องชาร์จไฟฟ้า เมื่อเร็วๆ นี้ นิสสัน เซเรน่า อี-เพาเวอร์ (Nissan Serena e-POWER) จะเป็นรถ อี-เพาเวอร์ รุ่นแรกที่จะเปิดตัวในภูมิภาคนี้ และจะเริ่มต้นกันที่สิงคโปร์เป็นประเทศแรกภายในปีนี้ 
ภายในงาน Nissan Futures ยังอยู่ในช่วงเวลาเดียวกับการแข่งขันฮ่องกง ฟอร์มูล่า-อี 2019 (Hong Kong Formula-e 2019) ที่นิสสันได้ส่งทีมแข่งลงดวลความเร็วกันอีกด้วย ยิ่งกระตุ้นให้รถพลังไฟฟ้าได้รับความสนใจมากขึ้น (เทคโนโลยีภายในรถยนต์ส่วนใหญ่เกิดมาจากรถแข่งในสนามแข่ง การมีรถแข่งแบบฟอร์มูล่า-อี ที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่จึงเป็นสัญญาณที่ดีในการพัฒนารถในกลุ่มนี้) 
และทำไมต้องสิงคโปร์ ยังไม่ถึงเวลาของประเทศไทยอย่างนั้นหรือ แม้ว่าไทยจะเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมยานยนต์ในภูมิภาคนี้? คำตอบง่ายมาก ประเทศไทยยังไม่พร้อม (แม้ว่าภาคเอกชนพยายามกันอย่างเต็มที่) โดยเฉพาะวิธีคิดและการรับรู้ของผู้ใช้รถ รวมทั้งภาครัฐที่ยังมีท่าทีชักเข้าชักออกกับตลาดรถพลังไฟฟ้า แต่กับสิงคโปร์ประเทศเล็กๆ ที่มีขนาดพอๆ กับ จ.ภูเก็ต กลับมีความพร้อมมากกว่าหลายเท่า นั่นเป็นเพราะความคล่องตัวของภาครัฐ มีเงินทุนสนับสนุน และผู้คนมีความเข้าใจในเทคโนโลยีมากกว่า


เมื่อมองกลับมาที่นิสสัน ประเทศไทย โดยส่วนตัวของผู้เขียนที่ต้องมอนิเตอร์ความเคลื่อนไหวของแต่ละค่ายอยู่ทุกวัน มองเห็นว่าในช่วง 3 ปีหลังมากนี้ ทีมงานนิสสันทำงานหลังบ้านกันหนักมาก และมีการเปลี่ยนแปลงภายในมากมาย จะเห็นว่ารถยนต์ทั่วไปทยอยเปิดตัว ส่วนรถพลังไฟฟ้าเน้นให้ความรู้และทำโรดโชว์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปีที่แล้วมีการเปิดตัวนิสสัน ลีฟ อย่างเป็นทางการ พร้อมเปิดราคาแบบสะท้านใจที่ 1.99 ล้านบาท ไม่รวม Quick Charge ที่มีราคาราว 7 หมื่นบาท เป็นราคาที่เข้าถึงได้ยากมาก แต่ยังคงขายได้ในหลักสิบ ซึ่งนิสสันไม่ได้คาดหวังว่าจะทำยอดขายได้มาก เพียงแค่เปิดตัวให้คนไทยได้รู้ว่านิสสัน ลีฟ และพลังงานไฟฟ้าคืออะไร ใช้งานอย่างไร แน่นอนว่าเปิดราคามาแบบนี้ต้องโดนกระแสตีกลับไม่น้อย นั่นไม่ได้ทำให้เสียกำลังใจ กลับชาร์จแบตเดินหน้าเต็มสูบกว่าเดิม เพราะเห็นว่ามีลูกค้าส่วนหนึ่งให้ความสนใจเป็นเจ้าของ และเริ่มมีฟีดแบคในทางที่ดีเพิ่มมากขึ้น มันเหมือนเป็นการโยนหินถามทาง พร้อมไปกับการเป็นผู้เริ่มก่อนมันเจ็บตัวก่อนเสมอ แต่จะคุ้มค่าในตอนท้าย 
ในเมื่อ นิสสัน ลีฟ ยังมีราคาที่สูง เป็นการนำเข้ามาจำหน่ายทั้งคัน ได้รับการสนับสนุนด้านภาษี ราคายังคงจับต้องได้ยาก แต่พอทำให้เห็นลู่ทางบางอย่าง รวมทั้งกระแสของรถพลังไฟฟ้าในไทยกำลังเติบโต มีผู้เล่นหลายรายเริ่มเข้ามาร่วมวงรวมทั้งค่ายยุโรปอย่าง Mercedes-Benz, BMW, Jaguare , Porsche ที่พร้อมลุยในตลาดนี้ด้วยเช่นกัน ยิ่งทำให้นิสสันมีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น และจากการสืบหาข้อมูลทั้งทางตรงและหลังบ้าน ทำให้รู้สึกสนุกกับตลาดนี้ขึ้นมาบ้าง เมื่อรู้ว่ามีความเป็นไปได้ที่คนไทยจะได้สัมผัสกับเทคโนโลยี อี-เพาเวอร์ เช่นเดียวกับสิงคโปร์ แต่จะมาอยู๋ในรถโมเดลไหนของนิสสัน ยังต้องรอลุ้นกันอีกที แต่มั่นใจว่ามาแน่นอนภายในปีนี้ แถมยังอาจจะมีข่าวดีไปมากกว่านั้น เรื่องราคาจำหน่ายมีโอกาสต่ำกว่า 1 ล้านบาทอีกด้วย นี่ถือเป็นข่าวดีมากสำหรับการจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และผู้ใช้รถที่ต้องการทางเลือกใหม่ๆ
นอกจากนี้ นิสสัน ประเทศไทย ยังเดินหน้ากิจกรรม Leaf Education ที่เน้นสร้างความรู้และการใช้งานที่ถูกต้องของรถพลังงานไฟฟ้า รวมทั้งจัดแสดงเทคโนโลยีของนิสสัน ลีฟ แบบที่สามารถเข้าไปสัมผัสได้อย่างใกล้ชิด และมีแผนที่จะจัดกิจกรรมอย่างนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะการให้ข้อมูลที่ถูกต้องให้ถึงมือผู้บริโภคจะช่วยสร้างความมั่นใจได้ดีที่สุดด้วยเช่นกัน
ทีนี้เหลือเพียงแค่นโยบายของภาครัฐที่จะช่วยผลักดันแค่ไหน ส่วนภาคเอกชนหลายรายชูมือพร้อมลุยแล้ว ค่ายรถพร้อม ซัพพลายเออร์พร้อม..แล้วคุณล่ะ! พร้อมที่จะก้าวไปสู่โลกใบใหม่ของยานยนต์ไฟฟ้าแล้วรึยัง? ••

HUNT Magazine Issue 50












Comments