ธุรกิจ S T A R T U P สำเร็จได้ด้วยเครือข่าย



ธุรกิจ
*S T A R T   U P*
สำเร็จได้ด้วยเครือข่าย


การเติบโตของธุรกิจ Startup ต้องการนักลงทุนมาสร้างธุรกิจ แต่ผู้ที่มาลงทุนนั้น ไม่เพียงแต่จะเอาเงินมาลงทุนเท่านั้น แต่เขาจะต้องมาพร้อมกับเครือข่ายของนักธุรกิจเก่งๆในธุรกิจอื่นๆที่เกี่ยวข้อง นักธุรกิจเหล่านี้จะมาช่วยกันวิเคราะห์โอกาส และอุปสรรคของการพัฒนาธุรกิจ Startup ในมุมมองต่างๆที่จะทำให้ธุรกิจพัฒนาไปในทิศทางที่ถูกต้องอย่างรอบคอบ คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่าธุรกิจ Startup สำเร็จได้เพราะมีคนนำเงินมาลงทุนเพื่อขยายธุรกิจ แต่จริงๆแล้วธุรกิจ Startup ไม่ควรจะคิดเพียงแต่จะหานักลงทุนมาต่อยอดธุรกิจเท่านั้น แต่เขาควรจะให้ความสำคัญด้วยว่าคนที่มาลงทุนนั้นเป็นใคร นอกจากเขาจะนำเงินมาลงทุนแล้ว เขามีเครือข่ายแบบไหนอย่างไร เขามีความสัมพันธ์ที่ดีกับนักธุรกิจเก่งๆในธุรกิจต่างๆหรือไม่อย่างไร นักธุรกิจ Startup ไม่ควรมองข้ามเรื่องนี้ เพราะการทำธุรกิจสมัยนี้ต้องอาศัยพันธมิตรยุทธศาสตร์ (Strategic alliance) มาเสริมกำลังให้ธุรกิจมีพลังที่จะเติบโต และประสบความสำเร็จ ธุรกิจที่พยายามเดินหน้าเพื่อความเติบโตเพียงลำพังโดยไม่สร้างเครือข่ายพันธมิตร ยุทธศาสตร์ย่อมไม่มีพลังเพียงพอที่จะต่อสู่กับคู่แข่งที่มีเครือข่ายที่เข้มแข็ง 

มาถึงตรงนี้แล้วอาจจะสรุปได้ว่า การมีเครือข่ายที่เข้มแข็ง การผูกมิตรกับนักธุรกิจที่เก่งๆ เป็นปัจจัยหมายเลขหนึ่งที่จะทำให้ธุรกิจ Startup ประสบความสำเร็จ และการมีนักลงทุนที่มีเครือข่ายนำเงินมาลงทุนถือเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญเป็นอันดับสอง เพราะหากธุรกิจ Startup ไม่มีเงินลงทุน (ไม่ว่าจะเป็น Startup ในบริษัทใหญ่ที่จะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการอำนวยการให้ลงทุนในธุรกิจดังกล่าว หรือ Startup อิสระนอกบริษัทใหญ่ที่จะต้องเป็นที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนที่จะนำเงินมาลงทุนทำให้ธุรกิจ Startup เติบโต) ก็ไม่อาจพัฒนาเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในระดับสูงได้

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะหาเครือข่ายและหาเงินมาลงทุน 
ผู้ประกอบจะต้องมั่นใจก่อนว่าธุรกิจที่ตนเองจะพัฒนานั้นมีตลาดรองรับ หมายถึงมีกลุ่มผู้บริโภคที่มีความต้องการสินค้าหรือการบริการ ที่เขาจะนำแสนอให้ตลาด อาจจะเรียกได้ว่า ความมั่นใจว่ามีตลาดรองรับสินค้าหรือบริการที่จะนำเสนอนั้นเป็น Level 0 การมีเครือข่ายพันธมิตรยุทธศาสตร์เป็น Level 1 และการมีเงินมาลงทุนให้ธุรกิจเติบโตนั้นเป็น Level 2 หากไม่มี Level 0 ก็ไม่ต้องคิดอ่านเรื่อง Level 1 หรือ  Level 2 ต่อไป การหาข้อมูลให้มั่นใจว่ามีตลาดใหญ่พอที่จะรองรับธุรกิจเป็นสิ่งที่ต้องทำ แต่หลายครั้งก็มักจะถูกมองข้าม เพราะทั้งผู้ริเริ่มธุรกิจ Startup และผู้ที่จะนำเงินมาลงทุนอาจจะมองโลกสวยเกินไป และขาดการสืบค้นของมูลเกี่ยวกับผู้บริโภค (lack of consumer intelligence) ทำให้ไม่เข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างลึกซึ้ง (Consumer insights) และลงทุนผิดพลาด ความสามารถในการคิดค้นพัฒนาสินค้าหรือบริการโดยขาดความรู้เรื่องของผู้บริโภคอย่างลึกซึ้งนั้น เป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาธุรกิจ ทั้งหมดนี้คือสาเหตุที่ผู้ประกอบการธุรกิจ Startup จึงต้องการเครือข่ายของนักลงทุนที่ชาญฉลาด เป็นเครือข่ายของคนที่มีประสบการณ์ในการกำหนดทิศทางของการพัฒนาธุรกิจที่รอบคอบ และแม่นยำด้วยประสบการณ์ในการทำธุรกิจที่ช่ำชอง การได้นักลงทุนที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับเครือข่ายนักธุรกิจที่เก่งๆ ทำให้เงินลงทุนนั้นไม่ใช่ “เงิน (Money)” เท่านั้น แต่จะเป็น “เงินฉลาด หรือเงินสารพัดนึก (Smart Money) ซึ่งหมายถึงเงินลงทุนที่ได้มาจากนักลงทุนที่มีสัญชาตญาณการตลาด มีความรู้กระแสของการตลาดทั้งปัจจุบันและอนาคตเป็นอย่างดี และสามารถคาดการณ์ได้ว่าธุรกิจได้จะเติบโตได้อย่างแข็งแรงเขาเป็นนักลงทุนที่มีความรู้ดี จังหวะดีในการขับเคลื่อนธุรกิจ มีความสามารถในการใช้ทรัพยากรต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นคนที่เข้าใจแนวโน้มของตลาดได้ดีกว่าคนอื่น และมองเห็นโอกาสทางการตลาดได้ก่อนคนอื่น เป็นนักลงทุนที่มีความรู้ธุรกิจในอดีตที่เป็นประวัติศาสตร์ สถานการณ์ของธุรกิจในปัจจุบันที่เป็นบริบทของธุรกิจ และมีวิสัยทัศน์ที่จะมองสถานการณ์ในอนาคตได้อย่างแม่นยำ ด้วยข้อมูลประวัติศาสตร์และสถานการณ์ปัจจุบัน พวกเขาเป็นผู้นำนวัตกรรมเข้าสู่ตลาดในฐานะเป็นผู้บุกเบิกที่คนอื่นมักจะตามมาเพื่อขยายตลาดให้เติบโตอย่างรวดเร็ว

นักธุรกิจที่ชาญฉลาดและเปี่ยมไปด้วยประสบการณ์เหล่านี้มีคุณค่าสำหรับการพัฒนาธุรกิจ Startup เพราะพวกเขาไม่เพียงแต่จะนำเงินมาลงทุนเท่านั้น แต่พวกเขาเอาประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของพวกเขามาลงทุนด้วย ธุรกิจ Startup ที่หาเงินลงทุนได้มหาศาล แต่หากเดินผิดทาง หรือเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคผิดพลาด เงินลงทุนที่มีอยู่อย่างมหาศาลก็ช่วยอะไรไม่ได้ ดังนั้นผู้ประกอบการธุรกิจ Startup ที่ต้องการเงินลงทุนจากนักลงทุนทั้งหลายจะต้องมองหานักลงทุนที่ชาญฉลาด และเปี่ยมไปด้วยประสบการณ์ โดยสังเกตได้ด้วยคุณลักษณะดังต่อไปนี้ (1) เป็นคนที่เคยทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องหรือมีความสัมพันธ์กับธุรกิจ Startup ที่กำลังพัฒนาเพื่อที่จะได้รับคำแนะนำจากพวกเขาที่มองการพัฒนาธุรกิจได้ครบถ้วนทุกมิติแบบองค์รวม (2) เป็นคนที่รู้จักคนเก่งทางด้านต่างๆในการจะหาคนมาร่วมงานกับธุรกิจได้อย่างถูกต้องแม่นยำ (3) เป็นคนที่มีเครือข่ายอย่างกว้างขวาง มีความสัมพันธ์กับคนในเครือข่ายได้ดี สามารถชักจูงคนในเครือข่ายมาร่วมลงทุนหรือมาร่วมงานด้วยได้ (4) เป็นคนที่สื่อให้ความสนใจ สามารถเป็นข่าวปรากฏในสื่อต่างๆได้อย่างต่อเนื่อง (5) เป็นคนที่มองเห็นปัญหาและอุปสรรคได้อย่างชัดเจน เพื่อหาหนทางที่จะก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆได้ ไม่ตกลงไปในหลุมพรางของธุรกิจ และ (6) เป็นคนที่มีความทะเยอทะยานที่อยากประสบความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของผู้ประกอบการธุรกิจ Startup ที่ต้องการพัฒนาธุรกิจ Startup ให้เป็นธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ในอนาคตอันใกล้

นักลงทุนที่มีลักษณะดังกล่าวข้างต้น เมื่อเขานำเงินมาลงทุน เขาจะมาพร้อมกับความเชี่ยวชาญ ความเป็นผู้นำ ความเป็นนักยุทธศาสตร์ในการจะสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ความสามารถในการบริหารยุทธศาสตร์ให้บรรลุเป้าหมาย ความสามารถด้านการตลาดและการขาย รวมทั้งความสามารถในการหาทุนมาเพิ่มเพื่อขยายธุรกิจอีกด้วย ทั้งหมดนี้ทำให้เราสามารถสรุปได้ว่า Smart Money นั้นมีความหมายมากกว่า “เงินลงทุน” ธรรมดา แต่เป็น “เงินลงทุนที่มาพร้อมกับความเชี่ยวชาญที่ก่อให้เกิดยุทธศาสตร์ในการดำเนินธุรกิจที่แม่นยำ” โอกาสของความสำเร็จย่อมมีมากกว่าและลดความเสี่ยงที่จะล้มเหลว

ธุรกิจ Startup ที่ประสบความสำเร็จมีน้อยกว่าธุรกิจ Startup ที่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นผู้ประกอบการที่สนใจจะทำธุรกิจ Startup จะต้องศึกษาให้เข้าใจสาเหตุของความล้มเหลว เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้ธุรกิจของตนต้องประสบกับความล้มเหลว สาเหตุประการแรกน่าจะมาจากการไม่มีตลาดรองรับสินค้าและบริการที่พัฒนาขึ้นมา ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายไม่ได้มีความต้องการสินค้าหรือบริการดังกล่าว สิ่งที่ผู้ประกอบการทำอาจจะเป็นสิ่งที่ตัวเขาเองคิดว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจ แต่เขาไม่ได้มองว่าผู้บริโภคมีความต้องการสิ่งที่เขาพัฒนาหรือไม่ ประการที่สองมาจากการไม่สามารถหาเงินทุนมาสนับสนุนให้สามารถพัฒนาธุรกิจให้เติบโตได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินทุนที่เรียกว่า Smart Money ดังที่ได้อธิบายไว้ข้างต้น เงินทุนดังกล่าวนี้จะต้องมาให้ทันเวลาสำหรับการพัฒนาธุรกิจ Startup ให้เติบโตอย่างรวดเร็ว ประการที่สามก็คือ คณะทำงานที่อาจจะมีผู้เชี่ยวชาญไม่ครบด้านของการดำเนินธุรกิจ หลายครั้งที่เราพบว่าคณะทำงานของธุรกิจ Startup เป็นเพื่อนที่เรียนมาด้วยกัน จบจากสาขาเดียวกัน จึงขาดความรู้บางด้านที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาธุรกิจ ดังนั้นผู้ประกอบการธุรกิจ Startup จะต้องเข้าใจองค์ประกอบของการดำเนินธุรกิจให้ครบทุกมิติ และหากกลุ่มที่ริเริ่มในการทำธุรกิจตั้งแต่แรกเริ่มนั้น ขาดผู้มีความสามารถด้านใด ก็ควรจะหาคนที่มีความสามารถด้านนั้นเข้ามาเสริมทีม ให้สามารถสร้างความเข้มแข็งในการทำธุรกิจให้ครบทุกด้าน และประการสุดท้ายก็คือ ความสามารถในการจัดการ ที่หมายถึงความสามารถในการกำหนดยุทธศาสตร์ในการดำเนินธุรกิจ ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ และความร่วมมือของผู้ที่อยู่ในคณะทำงานที่จะทำงานร่วมกันอย่างสอดประสานกลมกลืน ปราศจากความขัดแย้ง ภายใต้การกำกับดูแลของพี่เลี้ยง (Mentors) และคำแนะนำของที่ปรึกษา (Advisors)

เพื่อหลีกเลี่ยงความล้มเหลว ผู้ประกอบการธุรกิจ Startup จะต้องมั่นใจว่าเงินทุนที่ได้มานั้น มาพร้อมกับเครือข่ายของนักธุรกิจผู้มีประสบการณ์ และมีความเชี่ยวชาญในการจะกำหนดทิศทางของการพัฒนาได้อย่างถูกต้อง ไม่ใช่เงินลงทุนจากคนมีเงินที่ไม่มีเครือข่าย ไม่มีประสบการณ์ ไม่มีความชำนาญแต่อย่างใดเลย การได้นักลงทุนที่มีเครือข่ายที่ประกอบไปด้วยนักธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญนั้น ย่อมทำให้ธุรกิจได้โครงสร้างองค์กรที่ใช่ (The right organization structure) จัดสรรทรัพยากรที่มีอย่างมีประสิทธิภาพ (Efficient allocation of resources) จัดสรรทีมงานได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้ร่วมกันทำงานด้วยจิตวิญญาณของการหมู่คณะ (Team spirit) ที่ดำเนินงานอย่างปราศจากความขัดแย้ง นำไปสู่การวางยุทธศาสตร์ในการดำเนินธุรกิจอย่างมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน สอดรับกับบริบทของธุรกิจทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยสรุปแล้ว ผู้ประกอบการธุรกิจ Startup อย่าคิดว่าการหาเงินทุนมาสนับสนุนธุรกิจได้จะเป็นยาวิเศษที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ เมื่อได้เงินทุนมาแล้ว จะต้องได้นักลงทุนที่มีเครือข่ายของคนที่มีความรู้ มีทักษะ มีความเชี่ยวชาญ มีความมุ่งมั่น มีความรวมมือของทีมงานที่ใช่ และการมีเครือข่ายพันธมิตร เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการจะใช้เงินทุนที่ได้มาพัฒนาธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ

อาจจะหาคำหนึ่งคำมาอธิบายความสำเร็จของธุรกิจ Startup คงไม่มีคำไหนดีไปกว่าคำว่า “Smart” เพราะว่าธุรกิจ Startup จะต้องริเริ่มโดย Smart entrepreneurs ต้องพัฒนาสินค้าและบริการให้เป็น Smart offering จะต้องได้เงินลงทุนจาก Smart investors ที่นำเอาเงินมาลงทุนที่เป็น Smart money และจัดสร้างองค์กรที่ประกอบด้วย Smart staff ที่มีความสามารถในการใช้ Smart technology และวางแผนด้วย Smart strategies ในการสร้างโอกาสให้ธุรกิจประสบความสำเร็จคนที่เป็นผู้ประกอบการที่ริเริ่มธุรกิจ Startup ไม่จำเป็นต้องเก่งไปทุกเรื่อง แต่ต้องหาคนลงทุนที่เก่งหลายๆ ด้าน และจ้างพนักงานที่เก่งครบทุกมิติของการทำธุรกิจ ให้มาทำงานร่วมกันในลักษณะของการบูรณาการอย่างมีประสิทธิภาพ

ผู้ประกอบการต้องมีความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้ได้นวัตกรรมที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ดีกว่าสินค้าและบริการเดิมที่มีอยู่ก่อน
ผู้นำเงินมาลงทุนต้องมาพร้อมเครือข่ายที่มีความเชี่ยวชาญในการทำธุรกิจหลายๆ ด้าน เพื่อมาเป็นผู้กำหนดทิศทางของการพัฒนาธุรกิจได้อย่างถูกต้องแม่นยำ
ผู้ที่มาร่วมงานด้วยจะต้องมีความเชี่ยวชาญครบทุกมิติของการดำเนินธุรกิจ มาเสริมการทำงานของกลุ่มผู้ริเริ่มไม่ให้มีจุดอ่อนด้านใดด้านหนึ่ง
ผู้วางยุทธศาสตร์จะต้องเป็นผู้ที่เข้าใจผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายอย่างลึกซึ้ง ไม่ใช่ทำสิ่งที่น่าสนใจ แต่ทำสิ่งที่ผู้บริโภคไม่ต้องการ และไม่เคยมีใครนำเสนอมาก่อน
ผู้ร่วมงานทุกคนต้องเป็นคนที่มีความทะเยอทะยานที่จะประสบความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ ปรารถนาที่จะพัฒนาธุรกิจ Startup ให้เติบโตและยิ่งใหญ่อย่างเร็วไว

โดยสรุป การจะเป็นธุรกิจ Startup ที่ประสบความสำเร็จ จะต้องหาเงินทุนจากนักลงทุนที่จะมาเสริมสิ่งที่ผู้ริเริ่มยังขาดอยู่ จะต้องจ้างผู้ร่วมงานให้เสริมสิ่งที่ผู้ริเริ่มไม่มีความสามารถ จะต้องมีสินค้าหรือบริการที่เป็นนวัตกรรมที่ตอบสนองความต้องการให้แก่ผู้บริโภค ด้วยนวัตกรรมของคุณค่าที่สามารถหาได้จากการติดตามบทสนทนาออนไลน์ของผู้บริโภคในลักษณะที่เรียกว่า Crowdsourcing (การแสวงหาความคิดจากฝูงชน) จะต้องมีนวัตกรรมของยุทธศาสตร์ในการดำเนินธุรกิจ ทุกคนที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาธุรกิจ Startup จะต้องเป็นทูตของตราสินค้า (Brand ambassadors) เพื่อช่วยกันสร้างธุรกิจให้เติบโตอย่างรวดเร็ว ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจจะต้องมองตนเองเป็นบุคคลในเครือข่ายที่จะต้องมีส่วนร่วมในการสร้างความสำเร็จให้ธุรกิจ ••

by..HUNT Magazine50













Comments