EPA ญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป . . ดันไทยส่งออกอีโคไฮบริด และ ชิ้นส่วนรถยนต์ในอนาคตเพิ่มขึ้น



EPA
ญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป
. . . . .
ดันไทยส่งออกอีโคไฮบริด และ
ชิ้นส่วนรถยนต์ในอนาคตเพิ่มขึ้น



ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (Economic Partnership Agreement: EPA) ระหว่างญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปได้เริ่มมีผลบังคับใช้ และส่งผลให้สินค้าหลายรายการได้รับอานิสงส์จากการทยอยลดภาษีระหว่างกัน โดยสินค้าหนึ่งที่ได้รับอานิสงส์อย่างมากคือรถยนต์ และชิ้นส่วนรถยนต์ ที่ส่งออกจากญี่ปุ่นไปยังสหภาพยุโรป ซึ่งตามกรอบระยะเวลาในการลดภาษีนั้นสหภาพยุโรปจะต้องทยอยลดภาษีรถยนต์ และชิ้นส่วนเหลือร้อยละ 0 ภายในปี 2569 ส่งผลให้สหภาพยุโรปมีแนวโน้มที่จะนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้โดยตรงจากญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อการส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์จากไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานของค่ายรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นในหลายแง่มุมอย่างไม่อาจเลี่ยง 

ภายใต้ข้อตกลง EPA ระหว่างญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จะมีผลทำให้สหภาพยุโรปต้องนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนจากญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้น ขณะที่โอกาสการเข้ามาลงทุนผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนในสหภาพยุโรปของนักลงทุนญี่ปุ่นนั้นน่าจะไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แม้สหภาพยุโรปจะวางกรอบระยะเวลาการลดภาษีของข้อตกลงในหมวดชิ้นส่วนรถยนต์ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 ให้ลงเหลือร้อยละ 0 ทันทีในปีนี้ เพื่อสนับสนุนการการเพิ่มกำลังการผลิตรถยนต์ในภูมิภาคแทนการนำเข้ารถยนต์โดยตรงจากญี่ปุ่น ในขณะที่ทยอยลดภาษีรถยนต์นั่ง และรถปิกอัพลงจนเหลือร้อยละ 0 ในปี 2569 

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เนื่องจากค่ายรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นครองส่วนแบ่งตลาดในสหภาพยุโรปไม่มากนัก ทำให้โอกาสที่จะเกิด Economies of scale หากเพิ่มกำลังการผลิตรถยนต์ในสหภาพยุโรปจึงมีไม่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสหราชอาณาจักรซึ่งเป็นประเทศฐานการผลิตหลักที่สำคัญของรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น ด้วยสัดส่วนการส่งออกรถยนต์ที่ผลิตในประเทศไปยังสหภาพยุโรปที่สูงถึงกว่าร้อยละ 80 นั้น กำลังอยู่ในขั้นตอนการลาออกจากการเป็นประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (Brexit) ซึ่งหากการเจรจาตกลงระหว่างสหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรปในเรื่องการคงสิทธิประโยชน์ด้านภาษีดังเดิม เช่นเดียวกับตอนยังเป็นประเทศสมาชิกไม่เป็นผล ย่อมทำให้การผลิตรถยนต์ในสหราชอาณาจักรมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น จากทั้งการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์จากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป และการส่งออกรถยนต์ไปยังประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดหลัก จากสถานการณ์ดังกล่าว เมื่อประกอบกับข้อเท็จจริงที่ญี่ปุ่นได้รับสิทธิ์ในการลดภาษีจากสหภาพยุโรปผ่านข้อตกลง EPA ที่มีผลบังคับใช้ไปแล้วนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าน่าจะทำให้ค่ายรถสัญชาติญี่ปุ่นที่ผลิตอยู่ในสหราชอาณาจักรต้องหันมาพิจารณาถึงทางเลือกต่างๆในการลดผลกระทบดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการไม่ลงทุนเพิ่มเติมในสหราชอาณาจักร การย้ายฐานการผลิตรถยนต์บางรุ่นกลับไปผลิตในประเทศญี่ปุ่น รวมถึงการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นในสหภาพยุโรปที่มีฐานการผลิตอยู่แล้ว หรือไปยังประเทศนอกกลุ่มสหภาพยุโรป เช่น ตุรกี ซึ่งมีศักยภาพในการลงทุนผลิต และส่งกลับมายังกลุ่มสหภาพยุโรป เนื่องจากตุรกีมีการทำข้อตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรปอยู่ก่อนหน้าแล้ว ทำให้รถยนต์ที่ส่งออกจากตุรกีเข้าสหภาพยุโรปไม่ต้องเจอกับกำแพงภาษีนำเข้าเหมือนฐานการผลิตอื่น

ด้วยผลจากข้อตกลง EPA ระหว่างญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญที่สุด ตามมาด้วยการเกิด Brexit และการออกมาตรการกีดกันรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลในสหภาพยุโรป ที่นำไปสู่การเร่งพัฒนาตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในสหภาพยุโรปนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าจะส่งผลทำให้ค่ายรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นแต่ละค่ายมีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การผลิต รวมถึงการทำตลาดรถยนต์ และชิ้นส่วนรถยนต์โดยการวางตำแหน่งฐานการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนในห่วงโซ่การผลิตใหม่ เพื่อให้เกิดผลตอบแทนสูงสุด 

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า การลงทุนของค่ายรถยนต์รวมทั้งผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นในสหภาพยุโรปนับจากนี้ น่าจะไม่เพิ่มมากอย่างมีนัยสำคัญ แต่น่าจะเกิดการลงทุนผลิตรถยนต์ขนาดกลางมุ่งเน้นเครื่องยนต์ไฮบริดมากขึ้นในตุรกีแทน รวมถึงอาจลงทุนเพียงเล็กน้อยในชิ้นส่วนรถยนต์บางประเภทในประเทศสหภาพยุโรป ที่อยู่ทางยุโรปตะวันออก ใกล้กับตุรกีเพื่อประโยชน์ด้านต้นทุน 

ขณะเดียวกันสหภาพยุโรปน่าจะมีการนำเข้ารถยนต์โดยตรงจากญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มรถยนต์หรู รถยนต์นั่งขนาดใหญ่ และรถยนต์อเนกประสงค์ รวมไปถึงรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นกลุ่มประเภทรถยนต์ที่ใช้เทคโนโลยี และให้ผลตอบแทนสูง โดยรถยนต์กลุ่มนี้น่าจะตอบสนองต่อตลาดสหภาพยุโรปได้ดีในอนาคต รวมถึงนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์จากญี่ปุ่นมากขึ้น โดยเฉพาะชิ้นส่วนใช้เทคโนโลยี หลังภาษีนำเข้าที่ลดลงทำให้การผลิตในญี่ปุ่นแล้วส่งกลับไปประกอบรถยนต์ในสหภาพยุโรปมีต้นทุนที่ต่ำกว่า 

ทั้งนี้จากแผนยุทธศาสตร์ของค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นข้างต้น จะเห็นว่าไม่เน้นให้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนไปสหภาพยุโรป ทั้งนี้เนื่องจากไทยยังไม่สามารถเจรจา FTA กับสหภาพยุโรปได้ ทำให้มีความเสียเปรียบในด้านต้นทุนจากที่ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเช่นเดียวกันกับญี่ปุ่น และประเทศคู่แข่งอื่นที่ค่ายรถสัญชาติญี่ปุ่นไปตั้งฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังสหภาพยุโรป เช่น ตุรกี เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นได้วางไทยเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานการผลิตรถยนต์ไฮบริดที่สำคัญด้วยเช่นกัน ทิศทาง
ผลกระทบต่างๆที่คาดว่าไทยจะได้รับจึงขึ้นอยู่กับแนวทางในการวางยุทธศาสตร์การผลิตและทำตลาดที่แต่ละค่ายรถจะเห็นสมควร ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าผลกระทบหลากหลาย
รูปแบบที่จะเกิดขึ้นต่อการส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนจากไทยไปยังตลาดสหภาพยุโรป และญี่ปุ่น มีแนวโน้มเป็นดังต่อไปนี้

สหภาพยุโรป 
การส่งออกรถยนต์ สำหรับตลาดสหภาพยุโรป ไทยน่าจะเสียโอกาสในการเป็นฐานการผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกบางกลุ่ม โดยเฉพาะรถยนต์นั่งขนาดกลาง และขนาดเล็กบางรุ่น รวมถึงรถยนต์ไฮบริดบางรุ่น ที่ค่ายรถสัญชาติญี่ปุ่นมีการลงทุนผลิตในสหภาพยุโรป และตุรกี มากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และในระยะต่อไป อย่างไรก็ตามไทยยังมีโอกาสที่จะส่งออกรถยนต์นั่งสัญชาติญี่ปุ่นขนาดเล็กบางรุ่นของบางยี่ห้อที่ไม่มีการผลิตในสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น โดยเฉพาะรถยนต์อีโคไฮบริด ที่ไทยกำลังสนับสนุน และมีค่ายรถยนต์สนใจลงทุนในโครงการดังกล่าวหลายค่าย
การส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ คาดว่าน่าจะไม่ได้รับผลกระทบเท่าใดนักจากการลดภาษีเหลือร้อยละ 0 ทันทีให้กับญี่ปุ่น เนื่องจากแต่เดิมทีอัตราภาษีนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ของสหภาพยุโรปเองก็อยู่ในระดับต่ำมากอยู่แล้ว และการจะผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ประเภทใดให้กับรถยนต์รุ่นใด ทางผู้ผลิตก็ได้มีการวางแผนแหล่งที่ผลิตไว้แล้วเพื่อเน้นให้เกิด Economies of scale ไทยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่การผลิตชิ้นส่วนที่สำคัญให้กับค่ายรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น ไปยังฐานการผลิตสำคัญๆหลายแห่งของโลก จึงคาดว่าจะสามารถส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ไปยังสหภาพยุโรปได้ต่อเนื่องในระดับทรงตัว ตรงข้ามกับการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ของไทยที่คาดว่าจะเพิ่มมากขึ้นไปยังตุรกี ซึ่งกำลังเติบโตเป็นฐานผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นเพื่อส่งออกไปสหภาพยุโรปแห่งใหม่

ญี่ปุ่น
การส่งออกรถยนต์ ไทยน่าจะมีโอกาสส่งออกรถยนต์ในบางรุ่น โดยเฉพาะในกลุ่มรถยนต์อีโคไฮบริด ไปยังญี่ปุ่นมากขึ้น เนื่องจากค่ายรถสัญชาติญี่ปุ่นบางค่ายตัดสินใจให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญ โดยมุ่งเน้นการผลิตรถยนต์ไฮบริดหลากหลายรุ่นและขนาด ซึ่งนอกจากเพื่อการทำตลาดในอาเซียนและโอเชียเนีย ที่เป็นตลาดหลักของไทยแล้ว ยังวางแผนให้มีการผลิตเพื่อส่งกลับไปที่ญี่ปุ่นด้วย โดยเฉพาะอีโคไฮบริด ทั้งนี้เนื่องจากรถยนต์ที่ผลิตจากญี่ปุ่นอาจจะเป็นรุ่นเดียวกันนั้นได้สิทธิพิเศษทางภาษีจากสหภาพยุโรป ดังนั้นเพื่อให้เกิดกำไรที่สูงขึ้น การส่งออกรถยนต์ที่ผลิตในญี่ปุ่นไปขายยังสหภาพยุโรปแทนการผลิตเพื่อขายในประเทศทั้งหมด แล้วนำเข้าบางส่วนจากไทยมาขายในญี่ปุ่นแทน อาจเป็นวิธีที่เหมาะสมกว่า เนื่องจากไทยและญี่ปุ่นมีข้อตกลงการค้าเสรี JTEPA อยู่แล้ว และต้นทุนการผลิตในไทยเองก็ต่ำ จากทั้งการเกิด Economies of scale และการได้สิทธิพิเศษจากบีโอไอร่วมด้วย    
การส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ คาดว่าน่าจะสามารถส่งออกไปญี่ปุ่นได้เพิ่มมากขึ้น ทั้งเพื่อเป็นอะไหล่สำหรับรถยนต์ในรุ่นที่ไทยส่งออกไปยังญี่ปุ่นได้สูงขึ้นดังกล่าวข้างต้น และเพื่อเป็นชิ้นส่วน OEM สำหรับใช้ในการผลิตรถยนต์แทนที่ชิ้นส่วนซึ่งญี่ปุ่นมีการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปจากการได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีจากข้อตกลง EPA โดยเฉพาะชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า เช่น แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น

โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ข้อตกลง EPA ระหว่างญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปในหมวดสินค้ารถยนต์และชิ้นส่วนดูเหมือนจะไม่ได้ให้ประโยชน์กับสหภาพยุโรปเท่าใดนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดกรณี Brexit ตรงข้ามกลับทำให้เกิดการลงทุนในญี่ปุ่น และตุรกี ซึ่งเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปสหภาพยุโรปมากขึ้น และอาจรวมถึงไทยที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากการส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนบางรายการไปยังสหภาพยุโรป และญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม นอกจากประเด็นเรื่องข้อตกลง EPA ดังกล่าวแล้ว การส่งออกไปสหภาพยุโรปในปัจจุบันที่มุ่งเน้นพัฒนาไปสู่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นนี้ 
ทำให้หากไทยจะมองถึงโอกาสในการส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนไปยังสหภาพยุโรปในอนาคตนั้น จำเป็นต้องพิจารณาถึงการพัฒนารถยนต์ให้สอดรับกับความต้องการตลาดที่เริ่มกีดกันรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลล้วน มาสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงต้องมีการผ่านมาตรฐานไอเสียยูโร 6 ดังนั้นค่ายรถ โดยเฉพาะรถปิกอัพเครื่องยนต์ดีเซลจากไทยจึงควรมีการพัฒนาไปสู่ระดับที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเครื่องยนต์ให้ผ่านมาตรฐานไอเสียยูโร 6 หรือการใช้พลังงานไฟฟ้าควบคู่ไปด้วย เพื่อลดการปล่อยไอเสียลง เช่น รถปิกอัพไฮบริด หรือรถปิกอัพปลั๊กอินไฮบริด เป็นต้น ••

by...HUNT Magazine Issue 50








Comments