ข้าว กับการสร้างธุรกิจใหม่ ด้วยนวัตกรรม




ข้าว กับการสร้างธุรกิจใหม่ ด้วยนวัตกรรม 

Cr: HUNT Magazine Issue49

        แต่ไหนแต่ไรมาเราต่างทราบกันดีว่า เมืองไทยคือเมืองเกษตรกรรม อันมีข้าวคือผลผลิตที่สร้างรายได้หลักให้กับเกษตรกรไทยมาอย่างยาวนาน ความหลากหลายของพันธุ์ข้าว คุณภาพของความหอม อร่อย คือจุดเด่น ทำให้ข้าวถือเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ ทว่าทุกวันนี้ที่เรากำลังพูดถึงความสำคัญของนวัตกรรม ในฐานะที่จะมาต่อยอดของเดิมให้มีคุณค่า และมูลค่าเพิ่มทางการตลาด หลายคนอาจจะยังไม่คุ้นเคย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA จึงได้ร่วมกับมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สร้างกิจกรรมเพื่อกระตุ้นการใช้นวัตกรรมมาต่อยอดเป็นธุรกิจ โดยใช้โจทย์คือ ข้าว ผ่านการจัดการประกวดรางวัลนวัตกรรมข้าวไทย ผลที่ได้เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จ เนื่องจากในแต่ละปีได้มีสินค้านวัตกรรมที่ผลิตจากข้าวออกสู่ตลาดหลากหลายประเภท ทั้งในกลุ่มเวชภัณฑ์และยารักษาโรค กลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ อาหารเพื่อสุขภาพ รวมไปถึงอุปกรณ์เพื่อการสร้างบ้าน
โดยผลงานนวัตกรรมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากปี 2560 คือ GANFAI (Green and Fire Retardant Acoustic Decorative Item) เป็นนวัตกรรมระดับโลกด้านผลิตภัณฑ์ฉนวนกันความร้อนและดูดซับเสียง ใช้สำหรับตกแต่งอาคารและที่อยู่อาศัย โดยนวัตกรรมชิ้นนี้ทำมาจากฟางข้าว และเยื่อกระดาษ ประกอบด้วยขั้นตอนการการเตรียมแผ่นฉนวนโดยส่วนผสมฟางข้าวกับเยื่อกระดาษในอัตราส่วน 1 : 1 ถึง 4 : 1 และอัดขึ้นรูปโดยแม่พิมพ์ จากนั้นแช่ในสารละลายสารหน่วงไฟ ผ่านการอบแห้ง ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติน้ำหนักเบา ความหนาแน่น 0.12-0.18 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร  มีค่าความทนแรงดึงสูงสุดถึง 150 นิวตันต่อเซนติเมตร มีค่าสัมประสิทธิ์การนำความร้อนเพียง 0.028-0.088 วัตต์ มีค่าความต้านการลุกไหม้ ตามมาตรฐาน ISO 5657 : 1997 นวัตกรรมชิ้นนี้จึงเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับฟางข้าวได้กว่า 70 เท่า
และล่าสุด ผู้ที่ได้รางวัลชนะเลิศในปี 2561 คือผลงาน KD Care : ข้าวหอมโปรตีนต่ำพร้อมรับประทาน  โดยบริษัท ไทย นิวทริชั่น เทคโนโลยี จำกัด เป็นการใช้นวัตกรรมมาสร้างสินค้าชนิดใหม่ รองรับผู้มีปัญหาด้านสุขภาพ ในกลุ่มผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง โดยนำข้าวหอมปทุมธานีซึ่งมีโปรตีนอยู่ระหว่างร้อยละ 5-8 มาผ่านกระบวนการย่อยโปรตีนด้วยเอนไซม์ จากนั้นนำไปทำแห้ง ซึ่งข้าวที่ผ่านกระบวนการดังกล่าวจะมีปริมาณโปรตีนน้อยกว่า 1.19 กรัมต่อ 100 กรัม และนำข้าวที่ได้มาบรรจุใน retort cup
ผ่านกระบวนการสเตอริไลส์ เป็นข้าวพร้อมรับประทาน ซึ่งผลิตภัณฑ์นี้เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคไต คือถ้าปริมาณโปรตีนในข้าวที่รับประทานลดลง จะทำให้ผู้ป่วยสามารถรับประทานโปรตีนจากเนื้อสัตว์ได้เพิ่มขึ้น เพราะผู้ป่วยต้องการกรดอะมิโนจำเป็นจากเนื้อสัตว์
โครงงานนวัตกรรมที่เป็นความก้าวล้ำในวงการวิทยาศาสตร์จากข้าวอีกตัวอย่างหนึ่งคือ BR Staining Kit : ชุดย้อมสีจากข้าวเหนียวดำสำหรับประเมินรูปร่างอสุจิและงานนิติวิทยาศาสตร์ เป็นวัตกรรมระดับโลกที่นำไปใช้เป็นสีย้อมสำหรับประเมินรูปร่างอสุจิ โดยการนำข้าวเหนียวดำมาสกัดด้วยน้ำ ที่มีส่วนผสมของ Potassium alum กรดซิตริก และเอทานอล ในกรณีย้อมสีประเมินรูปร่างอสุจิ หรือ สกัดด้วยน้ำที่มีส่วนผสมของ Potassium alum ในกรณีย้อมสีตัวอย่างผ้าที่เปื้อนคราบอสุจิ ทดแทนสีสังเคราะห์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ และทดแทนสี Hematoxylin ซึ่งได้มาจากต้นไม้ Log Wood โดยสีย้อมจากข้าวเหนียวดำให้ผลไม่ต่างจากสีสังเคราะห์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังมีความน่าสนใจพี่พบว่าข้าวเหนียวดำ 1 กก. ราคา 50 – 80 บาท สามารถผลิตสีย้อมได้ 250 มิลลิลิตร ทำให้ราคาจำหน่ายลดลงคืออยู่ที่ 500 บาท มีขั้นตอนการย้อมสีเพียง 9 ขั้นตอน เมื่อเปรียบเทียบกับสีสังเคราะห์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันราคาอยู่ที่ 5,000 บาท มีขั้นตอนการย้อม 20 ขั้นตอน นวัตกรรมชิ้นนี้จึงมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อศูนย์บริการหน่วยผู้มีบุตรยากภาครัฐและเอกชน ห้องปฏิบัติการตรวจพิสูจน์หลักฐาน รวมถึงห้องปฏิบัติการตรวจวัตถุพยานจากคดีข่มขืน
สำหรับธุรกิจความงาม ก็มีวัตกรรม HERBALIST SIAM : RED JASMINE RICE PHYTO CELL SERIES โดย บริษัท วธูธร จำกัด เป็นการนำสารสกัดจากแคลลัสข้าวหอมมะลิแดง ที่มีสารสำคัญในกลุ่มของ Phenolic Compound, Procyanidin , Amino-acid ซึ่งการใช้เทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อให้เกิดแคลลัส ทำให้ได้ปริมาณสารสำคัญที่สูงกว่าการสกัดจากเมล็ดข้าว และมีฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าสารสกัดจากเมล็ดข้าวถึง 3 เท่า และนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สบู่ ครีม และเซรั่ม ที่มีการใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติ
นวัตกรรมชิ้นนี้ใช้ข้าวเปลือก 3 กิโลกรัม นำมาแกะเป็นเมล็ดข้าวสารหอมมะลิแดงได้ 1 กิโลกรัม จากนั้นจะใช้ข้าวสารหอมมะลิแดง 1 กิโลกรัม เพาะเลี้ยงแคลลัส ได้ 1 กิโลกรัม แล้วนำแคลลัส 1 กิโลกรัม นำมาสกัด เพื่อให้ได้สารสกัดจากสเต็มเซลล์ 1 ลิตร หากประเมินราคาของสารสกัดจะอยู่ที่ 18,000 บาท ต่อ 1 ลิตร และหากประเมินยอดการใช้สารสกัด 25 กิโลกรัมต่อการผลิตสินค้า 5,000 ชุด (Serum, Cream, Soap) จะพบว่าช่วยเพิ่มมูลค่าสารสกัดคิดเป็น 900 เท่าของข้าวเปลือกหอมมะลิแดง
อีกหนึ่งนวัตกรรมเพื่อการดูแลสุขภาพ คือ Dr.O Anti-Aging Skin Essence นวัตกรรมระดับประเทศด้านผลิตภัณฑ์บำรุงผิว Essence ที่มีการเพิ่มประสิทธิภาพในการระงับกลิ่นกาย สามารถควบคุมปฏิกิริยา oxidation ของร่างกายลดลงในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป โดยนำเถ้าแกลบที่มีซิลิก้าประมาณร้อยละ 70 – 90 มาสกัดด้วยกระบวนการ ultrasonic extraction ซึ่งจะทำหน้าที่ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ lipoxidase ที่เป็นตัวเร่งในการทำให้เกิดกลิ่น นอกจากนั้นน้ำด่างเถ้าแกลบยังมีแร่ธาตุต่างๆที่สามารถดูดซับกลิ่นไว ทั้งภายในและภายนอกโมเลกุล โดยจะเกิดปฏิกิริยาสะเทินกรด fatty acid นวัตกรรมชิ้นนี้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขี้เถ้าแกลบได้มากถึง 770 เท่า นอกจากนั้นยังเป็นการนำของเหลือทิ้งจากกระบวนการแปรรูปข้าวมาสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้เป็นสินค้าทางเลือกของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ชะลอวัย ที่เพิ่มคุณสมบัติในการระงับกลิ่นกายเข้ามาไว้ในผลิตภัณฑ์ได้อีกด้วย
เห็นความหลากหลายของนวัตกรรมฝีมือคนไทยเช่นนี้ สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องนวัตกรรม หรือการสร้างสินค้าใหม่ๆ โดยการใช้นวัตกรรมต่อยอด ขอคำปรึกษา หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02 – 0175555 เว็บไซต์ www.nia.or.th หรือ Facebook.com/NIAThailand ••






Comments