ระบบนิเวศของ Startup



จากนิตยสาร...HUNT Magazine
เรื่องโดย... ดร.เสรี วงษ์มณฑา

ระบบนิเวศของ Startup

ในระบบนิเวศของ Startup จะประกอบด้วยบุคคลที่เป็นปัจเจกหลายบทบาท และองค์กรที่มีส่วนช่วยสร้างสภาพแวดล้อมและสนับสนุนการทำงานของธุรกิจ Startup สำหรับปัจเจกบุคคลที่อยู่ในระบบนิเวศของธุรกิจ Startup จะมีบทบาทแตกต่างกันไป ดังนี้ บางคนคือ (1) ผู้ประกอบการ (Entrepreneurs) คือผู้ที่ต้องการทำธุรกิจ  (2) บางคนเป็นนักลงทุนด้วยการหาแหล่งทุนให้แก่ธุรกิจ Startup (Venture Capitalists) คือคนที่แสวงหาเงินทุนมาลงทุนกับธุรกิจ Startup โดยการแสวงหาธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโต เป็นผู้หาเงินทุนมาให้ผู้ประกอบการธุรกิจ Startup เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจด้วยความหวังว่าธุรกิจดังกล่าวนั้นจะสามารถเติบโตให้ผลตอบแทนกับการลงทุน (3) เศรษฐีใจบุญ (Angel Investors หรือ Business Angles หรือ Informal Investorsหรือ Angle Funders หรือ Private Investors หรือ Seed Investors— มีชื่อเรียกต่างกันไป แต่มีความหมายเดียวกัน) ได้แก่เศรษฐีที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจและพร้อมที่จะใช้เงินส่วนตัวที่มีอยู่เพื่อแสวงหากำไรจากการนำเงินมาลงทุนกับธุรกิจ Startup (4) พี่เลี้ยง (Mentor) ที่เป็นที่พึ่งพายามที่ติดขัดมีปัญหา (5) ที่ปรึกษาอย่างเป็นทางการ (Advisors)
ในระบบนิเวศของ Startup จะมีองค์กรที่เกี่ยวข้องมากมายได้แก่ (1) มหาวิทยาลัยที่ทำหน้าที่วิจัย มีข้อมูลที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ประกอบการที่มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถคิดหาธุรกิจที่เป็นนวัตกรรมมาเป็นธุรกิจ Startup (2) คณะบริหารธุรกิจของมหาวิทยาลัยต่างๆที่มีสาขา “ความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) ที่มีศูนย์ส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการ (3) องค์กรมหาชนที่ทำหน้าที่ส่งเสริมการพัฒนาผู้ประกอบการ (4) หน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่ส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการ (5) หอการค้าที่ทำหน้าที่ส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่แสวงหานวัตกรรมในการเป็นผู้ประกอบการที่มีธุรกิจแปลกใหม่ (6) ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจของมหาวิทยาลัยที่มีการสอนสาขาบริหารธุรกิจ (7) บริษัทธุรกิจที่เคยเป็น Startup ที่ประสบความสำเร็จมาก่อน และพร้อมที่จะแบ่งปันประสบการณ์ให้เป็นบทเรียนสำหรับผู้ประกอบการรายอื่นที่มีความตั้งใจที่จะเป็นธุรกิจ Startup ที่จะเติบโตเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ได้อย่างรวดเร็ว
พื้นที่ใดที่มีทั้งปัจเจกบุคคล และองค์กรต่างๆดังกล่าวข้างต้นจะเป็นระบบนิเวศของการพัฒนาธุรกิจ Startup หากจะมองความสัมพันธ์ของไตรภาคีที่มีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศของ Startup ก็จะพบว่าภาคีแรกคือ (1) องค์กรภาครัฐ จะต้องสนับสนุนให้องค์กรทางการศึกษาได้ทำวิจัยให้ได้ข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการ ให้สามารถนำเอาข้อมูลมาเป็นพื้นฐานของการพัฒนานวัตกรรมของธุรกิจ ในขณะเดียวกันก็จะต้องมีมาตรการและนโยบายที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ประกอบการมีแรงจูงใจที่จะพัฒนาธุรกิจ Startup (2) องค์กรด้านการศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยต่างๆที่จะต้องส่งเสริมให้คณาจารย์ทำวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการทำธุรกิจได้ ไม่ใช่ทำวิจัยเพียงเพื่อเพิ่มองค์ความรู้เท่านั้น จะต้องให้ความสำคัญกับโอกาสที่จะนำเอาผลของการวิจัยไปเป็นข้อมูลพื้นฐานของการทำธุรกิจที่เป็นนวัตกรรม รวมทั้งมหาวิทยาลัยที่มีการสอนด้านการบริหารธุรกิจ จะต้องมีบริการวิชาการในการเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำแก่ผู้ที่ต้องการพัฒนาธุรกิจ จัดสร้างศูนย์บ่มเพาะขึ้นมาในมหาวิทยาลัยเพื่อเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้ประกอบการ สร้างความมั่นใจในการดำเนินธุรกิจให้ผู้ประกอบการ (3) ประชาชนที่ทำงานเป็นลูกจ้างมาก่อน และต้องการที่จะเป็นผู้ประกอบการ และผู้ประกอบการในปัจจุบันที่กำลังค้นหานวัตกรรมทำธุรกิจใหม่ที่เป็น Startup จะต้องศึกษาหาโอกาสของธุรกิจจากข้อมูลวิจัยของนักวิชาการ หรือจากแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่มีอยู่อย่างมากมาย ที่เรียกกันว่า Big Data โดยจะต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูล (Analytics Competencies) ครบทั้ง 3 มิติ ดังต่อไปนี้ (1) การวิเคราะห์เชิงพรรณนา (Descriptive Analytics) หมายถึงวิเคราะห์ให้เข้าใจสภาพปัจจุบันอย่างถ่องแท้ (2) Predictive Analytics) คือวิเคราะห์คาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และ (3) Prescriptive Analytics คือวิเคราะห์ว่าสิ่งที่ควรทำเพื่อตอบสนองผู้บริโภคตามสภาพปัจจุบันและอนาคตควรจะเป็นเช่นไร ควรจะทำธุรกิจอะไร ทำสินค้าอะไรกับกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มใด จะสร้างคุณค่าอะไรที่เป็นนวัตกรรมสำหรับผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย
นักลงทุนมักจะพร้อมที่จะลงทุนกับธุรกิจ Startup ที่มีทีมผู้ก่อตั้งที่เข้มแข็งด้านความรู้และทักษะ มีความคิดสร้างสรรค์ เชื่อมั่นในนวัตกรรม กล้าหาญที่จะเป็นผู้บุกเบิกการสร้างคุณค่าใหม่ๆให้แก่ผู้บริโภค ด้วยข้อมูลเกี่ยวกับผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายที่ลึกซึ้ง และถูกต้อง แม่นยำ เป็นทีมงานที่แสดงให้เห็นการพิจารณาโอกาสของความสำเร็จและการจัดการความเสี่ยงได้อย่างมีดุลยภาพ ไม่ฝันหวานจนมองไม่เห็นความเสี่ยง หรือขี้ขลาดจนไม่ยอมไขว่คว้าโอกาสที่มองเห็น ความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับนวัตกรรมของผู้ประกอบการรายอื่นที่จะทำให้สิ่งที่ทำอยู่นั้นจะต้องพ่ายแพ้ จะต้องถูกนำมาชั่งกับโอกาสที่จะเติบโต และสามารถสร้างรายได้ที่ยั่งยืน ด้วยการพิจารณาว่า (1) ธุรกิจดังกล่าวนั้นมีศักยภาพที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องหรือไม่ (2) สามารถเจาะตลาดกลุ่มเป้าหมายเดิมได้ลึกมากขึ้นอย่างต่อเนื่องได้หรือไม่ และ (3) นอกจากกลุ่มเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ในเบื้องต้น สินค้าดังกล่าวนั้นจะสามารถขยายไปสู่กลุ่มเป้าหมายอื่นได้หรือไม่
ตามปรกติแล้ว Startup ที่น่าลงทุนมักจะมีลักษณะดังต่อไปนี้ (1) การลงทุนเบื้องต้น (bootstrapping cost)โดยกลุ่มที่เป็นผู้ก่อตั้งไม่สูงมากนัก (2) มีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้มีคนกล้าเข้ามาน้อยมาก ทำให้สามารถทำธุรกิจได้โดยไม่ต้องเผชิญกับคู่แข่งมากราย และคู่แข่งจะเข้าสู่สนามการแข่งขันช้า และ (3) มีศักยภาพในการจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุน (Return on investment—ROI) สูง Startup ที่ประสบความสำเร็จมีศักยภาพที่จะเติบโตได้มากกว่าธุรกิจที่มีมาแต่ดั้งเดิม เป็นการเติบโตที่รวดเร็วด้วยการลงทุนเบื้องต้นที่ไม่สูงนัก จำนวนพนักงานก็น้อย พื้นที่ในการประกอบการก็ไม่ใหญ่โต จังหวะเวลาที่เหมาะสมเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจ Startup ประสบความสำเร็จ ผู้ประกอบการธุรกิจ Startup จะต้องเข้าใจแนวคิดเรื่อง Strategic Window ที่หมายถึงการดำเนินการใน “ช่วงเวลาที่ใช่” ไม่เร็วเกินไป ไม่ช้าเกินไป และเรื่องการตระหนักรู้ว่าช่วงใดคือจังหวะที่เหมาะสมนั้น เป็นเรื่องที่ยากในการจะกำหนดให้ถูกต้อง หากเร็วไป ผู้บริโภคยังไม่ขานรับก็จะล้มเหลว หากช้าไป คนอื่นทำไปก่อน สิ่งที่ทำก็จะไม่ใช่นวัตกรรมอีกต่อไป
ธุรกิจ Startup มีทางเลือกในการจะหาทุนในการดำเนินงานหลายทาง ดังนี้ (1) Venture Capitalist คือคนมีเงินที่นำเงินมาร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการ Startup ที่มีเงินทุนไม่เพียงพอ (2)  Angel Investor หรือ Business Angel หรือ Informal Investor หรือ Angel Funder หรือ Seed Investor แล้วแต่จะเรียก พวกเขาคือคนรวยที่เข้ามาช่วยให้ผู้ประกอบการ Startup สามารถดำเนินธุรกิจได้ตามที่ตั้งใจ แล้วผันเปลี่ยนเงินลงทุนให้เป็นหุ้นในภายหลัง คนทั้งสองกลุ่มนี้จะเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือทางการเงินหลายๆธุรกิจ ทั้งๆที่ตระหนักรู้ว่ามีธุรกิจ Startup จำนวนไม่มากที่จะประสบความสำเร็จ (3) แม้จะมีคนทั้งสองกลุ่มนี้อยู่ ผู้ก่อตั้งธุรกิจ Startup จะต้องมีเงินทุนเบื้องต้น (Bootstrapping) ที่อาจจะเป็นเงินเก็บ เงินกู้  เงินยืม ผสมผสานกัน รวมทั้งการใช้บัตรเครดิตรูดซื้อสิ่งที่จำเป็นในการลงทุน (4) Factoring คือการขายหนี้ที่เกิดจากการขายสินค้าแบบให้สินเชื่อแก่คนที่รับซื้อหนี้ แล้วจ่ายเงินให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจ Startup ที่มีการขายสินค้าแบบสินเชื่อ และ(5) Crowdfunding คือการหาเงินลงทุนจากคนจำนวนมากด้วยการนำเสนอความคิดของการดำเนินธุรกิจ Startup บนพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ (Social media)
การทำธุรกิจ Startup มักจะมีความจำเป็นในการหาหุ้นส่วนกับผู้ประกอบการรายอื่น เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินการไปได้ การจะดึงดูดให้ผู้ประกอบการรายอื่นมาร่วมลงทุนด้วยนั้น ธุรกิจ Startup จะต้องนำเสนอจุดเด่นของธุรกิจให้ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นด้านการจัดการ สินค้าที่จะนำเสนอแก่ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย สภาพของการแข่งขัน โอกาสของธุรกิจ โอกาสในการทำกำไร โอกาสที่จะเติบโต ความเป็นนวัตกรรมที่มีความเป็นเอกลักษณ์แตกต่างจากสินค้าเดิมๆที่มีอยู่ในตลาด ธุรกิจ Startup ที่หาผู้ร่วมลงทุนง่าย จะมีคุณลักษณะที่รวมกันเรียกว่า Inheritors กล่าวคือ (1) ผู้ประกอบการจะต้องตั้งเป้าหมายยอดขายและกำไรที่ไม่ฝันหวานจนเกินไป (Conservative Projection) (2) จะต้องมีความแตกต่างที่เหนือกว่าสินค้าและบริการเดิมที่มีอยู่ในตลาด (3) จะต้องมีคุณลักษณะและคุณประโยชน์ไม่ต่ำกว่ามาตรฐานของสินค้าและบริการเดิมที่ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายใช้อยู่ในปัจจุบัน คุณสมบัติต่างๆที่กล่าวมาข้างต้นจะทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจ Startup สามารถหาผู้ร่วมลงทุนได้ไม่ยากนัก
ในทางตรงกันข้ามผู้ประกอบการธุรกิจ Startup บางรายมีลักษณะเป็น Originator กล่าวคือ เป็นธุรกิจ Startup คือผู้ประกอบการมั่นใจในนวัตกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง โดยไม่สนใจว่าผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายยังคงยอมรับมาตรฐานเดิมๆอยู่หลายอย่าง และอาจจะไม่ยอมรับสิ่งประดิษฐ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง (Radical invention) เป็นนวัตกรรมที่ยุติมาตรฐานเก่าๆเดิมๆไปเลย (Disruptive Innovation) ซึ่งธุรกิจ Startup แบบนี้จะประสบความสำเร็จได้เฉพาะในตลาดที่ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายไม่มีมาตรฐานเดิมๆ ที่ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายยึดมั่นอยู่เท่านั้น ธุรกิจ Startup ที่มีลักษณะเป็น Originator อาจจะหาหุ้นส่วนยากกว่าธุรกิจ Startup ที่เป็น Inheritor ที่เป็นนวัตกรรมที่ไม่รุนแรงถึงขนาดทิ้งมาตรฐานบางอย่างที่ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายยังให้ความสำคัญอยู่ นวัตกรรมของธุรกิจ Startup แบบนี้ถือได้ว่าเป็น Sustainable Innovation ที่มักจะเป็นนวัตกรรมที่ต่อยอดจากสิ่งที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน
Disruptive Innovation มักจะเป็นนวัตกรรมของผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่ต้องการนำเสนอสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน ด้วยความตั้งใจที่จะทำให้สิ่งที่มีอยู่ในตลาดกลายเป็นสินค้าหรือบริการที่ล้าสมัยไปเลย ถ้าผู้บริโภคไม่ยึดติดกับคุณค่าของสินค้าและบริการดั้งเดิม นวัตกรรมแบบนี้ก็จะประสบความสำเร็จ แต่สำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ในตลาดมาก่อนแล้ว อาจจะแต่งตั้งหน่วยธุรกิจทางยุทธศาสตร์ (Strategic Business Unit—SBU) ให้ทำหน้าที่เป็นหน่วยงาน Startup ที่คิดหานวัตกรรมต่อยอดสิ่งที่มีอยู่ในตลาดปัจจุบัน เป็น Sustainable Innovation ในกรณีที่ผู้บริโภคยึดติดและเคยชินกับสินค้าและบริการที่พวกเขาใช้อยู่ในปัจจุบัน  Startup ที่ใช้นวัตกรรมแบบนี้มีโอกาสประสบความสำเร็จได้ง่ายกว่า อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าธุรกิจ Startup จะพัฒนานวัตกรรมแบบใด ขั้นตอนต่อไปที่จะทำให้ธุรกิจ Startup ประสบความสำเร็จคือการหาผู้ที่เชื่อมั่นในนวัตกรรมของธุรกิจ Startup และพร้อมที่จะลงทุนพัฒนาธุรกิจ Startup ดังกล่าวให้เติบโตอย่างรวดเร็วตามนิยามของธุรกิจ Startup ที่จะต้องเป็นนวัตกรรมที่มีศักยภาพที่จะเติบโตอย่างรวดเร็ว
ความสามารถในการหาผู้ร่วมทุนที่ทำให้การดำเนินธุรกิจดำเนินไปได้โดยไม่ติดขัด คือการสร้างโอกาสให้ธุรกิจ Startup เติบโตอย่างรวดเร็ว และประสบความสำเร็จที่จะเป็นธุรกิจใหญ่ได้ ดังนั้นผู้ที่ต้องการดำเนินธุรกิจ Startup จะต้องเข้าใจแนวคิดและเป้าหมายของการดำเนินธุรกิจ Startup อย่างแท้จริงว่าไม่ใช่การเป็นธุรกิจ SME แต่ต้องการเป็นธุรกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว กลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ และเมื่อถึงวันนั้นก็จะพ้นสภาพของการเป็น Startup อย่าปะปนการเป็นธุรกิจ Startup ที่ประสบความสำเร็จกับการเป็น SME ที่เข้มแข็ง เพราะทั้งสองเรื่องนี้มีแนวคิดในการดำเนินงานและการวางยุทธศาสตร์ที่แตกต่างกัน


Comments