Big Data เรื่อง “ใหญ่” ที่ ธุรกิจขนาด “ย่อม” และ “กลาง” ไม่ควรเมิน



Big Data เรื่อง ใหญ่ ที่ ธุรกิจขนาด ย่อม และ กลาง ไม่ควรเมิน


ผมได้ยินคำว่า Big Data ถี่ขึ้นในช่วงนี้ ทั้งการออกเสียงว่า บิ๊ก เดต้า (ถ้ายึดคัมภีร์อเมริกัน) และ บิ๊ก ดาต้า (ถ้ายึดสำเนียงผู้ดีอังกฤษ) คงไม่ต่างจาก โตเมโต้ โตมาโต้ โปเตโต้ โปตาโต้ เอาที่สะดวก เรารักยักษ์ใหญ่จากสองฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกไม่น้อยกว่ากันอยู่แล้ว แต่ข้อมูลใหญ่นี่สิ มันกระทบกับวิถีชีวิตของเราอย่างไร วันนี้ผมขออนุญาตเจาะเฉพาะเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลาง ก่อนละกันนะครับ

ผมเริ่มจากการถามเพื่อนๆ ผู้ประกอบการรอบๆตัวจากหลากหลายวงการ ว่าพวกเขาเหล่านั้น ผู้ซึ่งต้องขับเคลื่อนธุรกิจตัวเองให้อยู่รอดในยุค 4.0 เข้าใจคำว่า Big Data อย่างไร

Big Data คือ ข้อมูลรวมที่ได้จากการเก็บสถิติ เรื่องความถี่ในการใช้งาน โซเชียลเน็ตเวิร์คในหลายช่องทาง แอพพลิเคชั่นหลากหลาย ของบุคคลแต่ละคน เพื่อระบุว่าพฤติกรรมของผู้คนมีการใช้บริการ การซื้อสินค้า เสพสื่อ ปฏิสัมพันธ์ บ่อยมากน้อยเพียงไร หากใครหรือผู้ประกอบการท่านใดมีข้อมูลเหล่านี้ บวกระยะเวลาในการเก็บสถิติ จะสามารถคาดคะเนพฤติกรรมและทำการตลาดได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย โดยไม่ต้องเสียเวลากับเม็ดเงิน ไปกับการลงทุนเพิ่มเติม ที่อาจก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายสูญเปล่า เพื่อการตลาดได้” เป็นความเห็นของคุณ ศิวพล เที่ยงธรรม ดีไซเนอร์ และ ผู้จัดการการตลาด ห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยนคร

Big Data is a big cluster of data that come through various source however these data can be both benefits and junk for company depending on how they analyze and utilize them.Navin Sachdev Director Power Vault (Thailand) Co., Ltd. 

Big Data คือ ข้อมูลอันมหาศาลที่ถูกเก็บสะสมมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ที่สามารถนำไปวิเคราะห์ต่อยอดจะมีความสำคัญมากกับการทำ Loyalty program และการดูแลลูกค้าในอนาคต รวมถึงการคิดค้นหาบริการใหม่ๆ มานำเสนอ”  คุณ จักรพันธ์ รัตนเพชร กรรมการผู้จัดการ บริษัท World Reward Solutions จำกัด

Big Data คือถังข้อมูลทุกอย่างที่เรามีมาจากภายในบริษัท หรือข้อมูลที่มาจากแหล่งที่มาภายนอกอย่าง Social Media ก็ได้ ซึ่งทั้งหมดเป็นข้อมูลที่สามารถนำมาวิเคราะห์ได้เพื่อการคาดการณ์เหตุการณ์ในอนาคต หรือดูแนวโน้มสิ่งที่จะเกิดขึ้น” คุณ เฉกพันธ์ สุนทรส รองผู้อำนวยการผ่ายการสื่อสารการตลาด Customer Happiness Relationships Management True Corporations 

Big Data หมายถึงข้อมูลทุกอย่างที่เรามีอยู่ในบริษัท และในการทำงาน เน้นเรื่องความรวดเร็ว หลากหลายมากมาย ปัจจุบันบริษัทดิฉันกำลังเปลี่ยนเครื่อง hardware เดิมของ IBM อัพเกรดเป็นเครื่องใหม่ เพราะปริมาณข้อมูล/การใช้งานแต่ละวันมากขึ้นจนเครื่องเก่าเอาไม่อยู่” คุณ สุภาณี จันทศาศวัต รองประธานฝ่ายต่างประเทศกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

Big Data สำหรับผมคือ ข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่กำลังศึกษาที่สามารถหาได้ เพื่อให้เรานำมาใช้ประเมิน และวิเคราะห์  โดยอยู่ในลักษณะของข้อมูลดิบ” คุณ พีระพล พิภวากร กรรมการผู้จัดการ บจกซีดราก้อน เอ็นเตอร์เทนเมนท์

Big data คือกลุ่มข้อมูลเยอะๆ ที่จับมารวมกันเพื่อนำไปวิเคราะห์หาค่าต่างๆ ขึ้นอยู่กับว่าต้องการหาข้อมูลเกี่ยวกับอะไร ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเยอะและซับซ้อนมากเกินกว่าที่คนเราจะสามารถวิเคราะห์ได้โดยไม่มีโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาช่วย ข้อมูลเหล่านี้จะเห็นได้ชัดจากในกลุ่ม search engines และ AI คุณ ศาศวัต ตัณมานะศิริ 
รองประธานกรรมการ บริษัท ที เอส แอล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

Many marketers fall victims to paralysis by analysis as a result of holding too many irrelevant data. Big data gives you a pool of useful information helping identify what exactly you need in solving specific business problems - helping to unearth new trends and people behaviors, relevant search keywords and zeroing in to the audiences that matches your products and services best. But big data is only a shining light in the tunnel that induces “The Eureka” moment of marketing brilliance. At the end creativity still reigns supreme.คุณ ภราดร ศิรโกวิท ผู้จัดการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และการสื่อสาร บริษัท โคคา-โคลา (ประเทศไทย) จำกัด

ดูความเข้าใจของแต่ละท่านแล้วก็มาถูกทางนะครับ โจทย์ใหญ่จากนี้ไปน่าจะเป็นการนำเอาคลังข้อมูลยักษ์เหล่านี้มาใช้งานธุรกิจ โดยเฉพาะขนาดเล็กและกลางที่อาจไม่มีทุนมากเท่าธุรกิจขนาดใหญ่ ควรจะลงทุนใน Big Data เท่าไหร่จึงจะพอ ผมต้องคว้าตัวนักวิชาการมาช่วยคิด วิเคราะห์และหาคำตอบ บังเอิญเช่นกันครับที่งานสัมมนาทิศทางเศรษฐกิจไทย งานใหญ่ประจำปีโดยสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ 22 พฤศจิกายนนี้ ก็จับเรื่องนี้เช่นเดียวกัน ผมจึงคว้าตัวหนึ่งในสมองของงานนี้ ดร. วศิน ศิวสฤษดิ์ ผู้อำนวยการโครงการปริญญาตรีภาคภาษาไทย มาช่วยไขข้อข้องใจ 
นักเศรษฐศาสตร์ท่านนี้กล่าวว่า ก่อนอื่นเราต้องมาทำความเข้าใจว่าข้อมูลบิ๊ก ดาต้า (Big Data) คืออะไร ซึ่งตามนิยามที่ใช้กันในปัจจุบันอย่างแพร่หลาย ข้อมูลบิ๊ก ดาต้า คือข้อมูลที่ต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 มิติหลัก คือ มิติแรก ต้องมีลักษณะของข้อมูลหลากหลาย (High-Variety) กล่าวคือมีการจัดเก็บด้วยรูปแบบต่างๆ อาทิ ข้อมูลตัวเลข ข้อมูลรูปภาพ ข้อมูลเสียง ข้อมูลคำสั่งซื้อขายรายธุรกรรม ข้อมูลจากผู้บริโภคจากแหล่งโซเชียล เป็นต้น และได้ข้อมูลเหล่านี้ทั้งจากภายในองค์กร และภายนอกองค์กร  ข้อมูลเหล่านี้อาจเป็นข้อมูลที่ธุรกิจมีแต่ไม่เคยถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ (Dark Data)  ในส่วนของมิติที่สองคือ ข้อมูลต้องมีอัตราเร็ว (High-Velocity)  กล่าวคือ การรับส่งข้อมูล ต้องมีลักษณะทันปัจจุบัน (Real Time)  และมิติสุดท้ายคือต้องมีลักษณะเป็นข้อมูลอภิมหาศาล (High-Volume)  กล่าวคือ มีการเก็บข้อมูลเป็นจำนวนมาก ในปัจจุบันจากผลของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีส่งผลทำให้ข้อมูลที่ถูกสร้างขึ้นในโลกในแต่ละวันมีจำนวนที่มากขึ้น โดยคาดการณ์ว่าในสิ้นปี 2020 จะมีข้อมูลทั้งหมดที่อยู่ในโลกและถูกจัดเก็บ ถึง 40 Zettabytes ซึ่งเทียบเท่ากับ 1.1 ล้านล้าน Gigabytes
ดร. วศิน เล่าต่อว่าในโลกธุรกิจปัจจุบันที่มีการแข่งขันสูง บิ๊ก ดาต้า (Big Data) ถูกนำมาใช้ในการวิเคราะห์ เพื่อวางแผนในการขับเคลื่อนธุรกิจ สร้างกลยุทธ์ใหม่ๆ เปิดมุมมองในการขยายกลุ่มเป้าหมายหรือหาช่องทางใหม่ในการทำการตลาด  วิเคราะห์ปัญหาตลอดจนประเมินความเสี่ยงที่ธุรกิจมีโอกาสจะเผชิญในอนาคต  ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าบริษัทชั้นนำของโลกต่างก็เล็งเห็นความสำคัญนี้ อาทิเช่น  Amazon Netflix Google YouTube Twitter Dropbox  เป็นต้น โดยในสิ้นปี 2018 บริษัทใหญ่ๆทั่วโลกมีอัตราการเติบโตของค่าใช้จ่าย ด้านการวิเคราะห์ด้วยข้อมูลบิ๊ก ดาต้า  ถึงร้อยละ 30 โดยในงานศึกษาของ KPMG พบว่า ธุรกิจประกันภัย ซุปเปอร์มาเก็ต และธนาคาร มีการใช้ข้อมูลเหล่านี้มากสุดในการวิเคราะห์ด้านการตลาดและสร้างกลยุทธ์สำหรับธุรกิจ  สำหรับประเทศไทย บริษัทชั้นนำหลายที่ก็มีทิศทางในการบริหารองค์กรโดยนำเอาข้อมูลบิ๊ก ดาต้ามาใช้เพื่อเป็นกุญแจสำคัญในการผลักดันธุรกิจเช่นกัน อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณากลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) กลับพบว่า ผู้ประกอบการยังคงไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากนัก  โดยอาจมีสาเหตุมาจากเรื่องดังกล่าวอาจดูเป็นเรื่องไกลตัว เกินความสามารถในการนำมาใช้ หรืออาจยังมองไม่เห็นประโยชน์จากการใช้ข้อมูลบิ๊ก ดาต้า (Big Data) ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ ทั้งที่จริงแล้วเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก และก่อให้เกิดโอกาสใหม่ๆในเชิงธุรกิจในการพัฒนาต่อยอดทางนวัตกรรมที่จะได้จากการเริ่มพัฒนาระบบบิ๊ก ดาต้า ให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ตลอดจนนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์ (Big Data Analysis) เพื่อวางแผนการทำธุรกิจในอนาคต และที่สำคัญที่สุดคือ ในปัจจุบันธุรกิจเองสามารถดำเนินการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ได้ไม่ยากอย่างที่กังวล

ในเมื่อการนำเอาข้อมูลบิ๊ก ดาต้า มาใช้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถทำได้ง่ายขึ้น เนื่องจากสามารถใช้เทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลแบบ Cloud หรือ Hadoop ซึ่งเป็นระบบ Open Source มีต้นทุนที่ต่ำ และสามารถทำได้ง่าย ดังนั้นเทคโนโลยีในส่วนนี้น่าจะช่วยตอบโจทย์ให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในแง่ของการจัดเก็บข้อมูลทุกประเภท (Storage) ทั้งในส่วนที่เป็นข้อมูลภายในองค์กรและข้อมูลภายนอกองค์กร ตลอดจนสามารถจัดเก็บได้หลากหลายรูปแบบมากขึ้น และมีลักษณะข้อมูลที่เป็นปัจจุบันมากขึ้น การเริ่มทำการจัดเก็บข้อมูลต่างๆ ในที่เดียวกัน ไม่ว่าจะบน Cloud หรือ Hadoop จะส่งผลดีให้กับธุรกิจในแง่การบริหารจัดการข้อมูลที่จะระบบมากขึ้น ง่ายให้การสืบค้นในอนาคต นอกจากนี้ ด้วยระบบการเก็บข้อมูลเช่นนี้ ธุรกิจเองสามารถดำเนินการทำธุรกรรมต่างๆบนแพลตฟอร์มนี้ได้เลย 
เมื่อธุรกิจมีการจัดเก็บข้อมูลทุกอย่างเรียบร้อยบน Could หรือ Hadoop ไว้เป็นจำนวนมาก ก็มาถึงประเด็นที่สำคัญคือ การประมวลผล และได้มาซึ่งผลที่มีความน่าเชื่อถือ (Processing and Generating Sensible Information) ดร. วศินแนะว่า ในส่วนนี้จะพบว่าธุรกิจ SMEs มีทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้นในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้โปรแกรมฟรีในการช่วยวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าว หรือใช้บริการขอคำปรึกษาจากนักวิเคราะห์ข้อมูลตามบริษัทผู้ให้บริการด้านนี้ โดยเมื่อเรามีข้อมูลมากขึ้นเรื่อยๆ SMEs ก็สามารถที่จะวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้ ได้ดีมากขึ้น มีความแม่นยำมากขึ้น ตลอดจนรู้ข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจของตนได้หลากหลายมิติมากขึ้น  ทำให้ธุรกิจสามารถเจาะกลุ่มเป้าหมายของลูกค้าได้ดีขึ้น หรือแม้แต่ให้บริการที่ตรงกับความต้องการของแต่ละคนได้ดีขึ้น (Tailored Products)  โดยในงานศึกษาของ Oxford Economics Survey ในปี 2013 ชี้ให้เห็นว่า การใช้นำเอาข้อมูลบิ๊ก ดาต้า เข้ามาใช้ในธุุุรกิจ SMEs จะมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดการพัฒนา ต่อยอดทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ และทำให้ธุรกิจมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากธุรกิจจะสามารถทำการวิเคราะห์ และพยากรณ์ตลาดและกลุ่มลูกค้าได้ดีมากขึ้น มีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ที่มากขึ้น เพิ่มศักยภาพในการผลิต ตลอดจนพบกลุ่มลูกค้าใหม่ที่เคยเป็นกลุ่ม Blind Spots และทำให้การตัดสินใจของธุรกิจดีขึ้น

เราเริ่มเห็น success story ในประเทศไทยบ้างแล้ว อย่างเช่น เรื่องราวของ Baania ที่บันทึกไว้ใน Brand Inside ว่าเป็นสตาร์ทอัพที่ให้บริการข้อมูล Big Data ด้านอสังหาริมทรัพย์แบบครบวงจรรายแรกในไทย เพราะต้องการแก้ปัญหาในการซื้อบ้านของผู้บริโภคยุคใหม่ เนื่องจากผู้บริโภคในยุคนี้เปลี่ยนพฤติกรรมในการเลือกซื้ออสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้นหาข้อมูลเพื่อเปรียบเทียบราคาที่ดิน บ้าน หรือ คอนโด
หรือแม้แต่ Ricult สตาร์ทอัพน้องใหม่ในไทย ที่ใช้เทคโนโลยี Big Data และ Machine Learning มาช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมภาคเกษตร ไม่ว่าจะเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน จะต้องใส่ปุ๋ยรดน้ำเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม ฯลฯ โดยใช้ข้อมูลจากดาวเทียมวิเคราะห์หาสภาพดินที่เหมาะสมในการเพาะปลูก รวมไปถึงปริมาณและเวลาที่ควรใส่ปุ๋ยและรดน้ำ รวมถึงการนำข้อมูลของเกษตรกรและแปลงที่ดินมาคำนวณ Credit Score เพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสให้กับผู้ให้กับผู้ปล่อยกู้มากยิ่งขึ้น เพราะคะแนนเหล่านี้ จะทำให้ธนาคารตัดสินใจปล่อยเงินกู้ที่ดอกเบี้ยถูกกว่าเงินกู้นอกระบบหลายเท่า เป็นต้น
นี่เป็นเพียงแค่น้ำจิ้มละกันนะครับ  สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจการนำเอาข้อมูลบิ๊ก ดาต้า มาใช้ต่อยอดทางธุรกิจของตน  และต้องการพูดคุยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ กับผู้ประกอบการ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ประสบความสำเร็จในการนำเอาข้อมูลบิ๊ก ดาต้ามาใช้ในธุรกิจ ตลอดจน ไขข้อข้องใจในประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องกับบิ๊ก ดาต้า ซึ่ง ดร.วศิน ขอเชิญทุกท่านเข้าร่วมงานสัมมนาเศรษฐกิจประจำปี สมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ ปี 2561 ในหัวข้อ โอกาสของธุรกิจในโลกยุคปฎิวัติข้อมูล ในวันพฤหัสบดีที่ 22 พฤศจิกายน 2561 นี้ สามารถสอบถามและสำรองที่นั่งกันแต่เนิ่นๆได้ที่สมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ โทร: 02 226-4397  ซึ่งถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด ผมเองก็จะไปทำหน้าที่ดำเนินรายการนี้ เฉกเช่นทุกปี แล้วพบกัน..



Comments