Thriving through the Wind of Change


Thriving through the Wind of Change เรียนรู้ให้อยู่รอด ด้วยรากฐานแห่งความพอเพียง


มนุษย์เราเรียนรู้ที่จะปรับตัวเพื่อความอยู่รอดท่ามกลางยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่ในอดีต ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาที่ความรู้ผุดขึ้น ก้าวกระโดดอย่าง Knowledge Revolution ไปจนถึงเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทั้ง 4 ครั้ง ซึ่งนำไปสู่การต่อยอดความหลากหลายทางเทคโนโลยีที่ตามมาอย่างไม่หยุดหย่อนจวบจนกระทั่งปัจจุบัน
เมื่อลมแห่งการเปลี่ยนแปลง พัดมายังทิศทางที่ธุรกิจกำลังก้าวเดิน องค์กรที่ต้องการอยู่รอดจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิสัยทัศน์ ไปจนกระทั่งกลยุทธ์เพื่อให้ยังคงดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคง
องค์กรชั้นนำของประเทศไทยที่เปิดกิจการมานานถึง 44 ปี อย่าง “บริษัท ธนากรผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช จำกัด” ซึ่งดำเนินธุรกิจแปรรูปเมล็ดพืชน้ำมันให้เป็นน้ำมันพืช โดยมีผลิตภัณฑ์หลักที่คุ้นหูกันดี เช่น น้ำมันถั่วเหลือง และน้ำมันดอกทานตะวัน ภายใต้แบรนด์ กุ๊กหรือ “COOK” ก็ต้องประสบกับปัญหาไม่น้อย ซึ่งมีสาเหตุที่ต่อเนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกองค์กร
            สภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกองค์กรในประเด็นเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและกฎระเบียบ ส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาแรงงานที่ขาดแคลน  และด้อยประสิทธิภาพ  ส่วนในประเด็นเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมนั้น องค์กรเล็งเห็นว่าควรจะมีการพัฒนาในด้านนี้ เพราะความต้องการที่จะลดต้นทุน  ป้องกันความผิดพลาด  และลดความเสี่ยงของธุรกิจ  ควบคู่ไปกับการควบคุมคุณภาพสินค้าและบริการให้ได้สมบูรณ์ 100% และความจำเป็นที่ต้องตรวจสอบสุขภาพขององค์กร ได้อย่าง Real-time เพื่อให้แก้ไขปรับปรุง และป้องกันได้อย่างทันท่วงที
            ธนากรผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช เล็งเห็นว่าการเสริมสร้างรากฐานที่มั่นคงในการดำเนินธุรกิจอย่างแท้จริงนั้นจะต้องใช้ความรู้นำทาง และมีคุณธรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว เพื่อการเติบโตของธุรกิจอย่างเข้มแข็งและประสบความสำเร็จ ด้วยความมั่นคงและยั่งยืน โดยใช้หลัก “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” ที่นำมาประยุกต์มาตรฐาน มอก.9999 ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ตอบโจทย์ดังกล่าว
            องค์กรตั้งใจที่จะสร้างสมดุลระหว่างภาคส่วนของเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย ในการทำงาน โดยได้กำหนดแนวทางการรับมือความเปลี่ยนแปลงไว้ว่า สร้างคน สร้างวัฒนธรรม สร้างภูมิคุ้มกัน  เพื่อพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง โดยจำเป็นต้องเริ่มต้นพัฒนาที่ทรัพยากรมนุษย์ เนื่องจากบุคลากรเป็นส่วนสำคัญของการจะก้าวไปสู่อนาคตแห่งการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมั่นคง บุคลากรต่างแบ่งปัน ช่วยเหลือ และทำงานร่วมกัน  และผู้บริหารต้องเป็นผู้นำในการพัฒนาทีมงาน ให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน
สำหรับวิธีการที่องค์กรนำเอารากฐานแห่งความพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในองค์กรเริ่มต้นจาก
1.        ประเมินตนเองเทียบกับมาตรฐาน มอก.9999 เล่ม1-2556 โดยพิจารณาว่ากิจกรรมขององค์กรที่ดำเนินการในปัจจุบัน เปรียบเทียบกับมาตรฐานเศรษฐกิจพอเพียง มอก.9999 ว่าดำเนินการแล้วหรือยังต้องเพิ่มเติมในส่วนใดบ้าง              
2.        ทบทวน หรือจัดทำ ปรัชญา วิสัยทัศน์ พันธกิจ และค่านิยม ในการดำเนินธุรกิจขององค์กร จะทำให้ผู้นำองค์กรได้รู้ขีดความสามารถทั้งปัจจุบันและอนาคตขององค์กร
3.        กำหนดกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจขององค์กร ตามหลักการ ของมาตรฐานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม
4.        วางแผนและกำหนดวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ ที่สามารถวัดผลได้ใน ระดับองค์กร ระดับบุคคล 
5.        บริหารความเสี่ยง โดยการกำหนดตัวชี้วัดผลการดำเนินงาน ด้านการบริหารความเสี่ยง
6.        สื่อสารกลยุทธ์ให้บุคลากรในองค์กรมีความเข้าใจ
7.        ติดตาม เฝ้าระวัง วัดผล และการทบทวน
8.        ปรับปรุงและขยายผลการดำเนินงานตามมาตรฐานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม อย่างเป็นขั้นตอน และต่อเนื่อง
ธนากรผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช ได้รับประโยชน์จากการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชตามมาตรฐาน มอก.9999 เศรษฐกิจของพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในองค์กรได้อย่างรอบด้าน จากตัวอย่างโครงการต่าง ๆ ที่องค์กรได้ริเริ่มขึ้น ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่องค์กรอื่น ๆ สามารถนำไปปรับใช้ให้เกิดผลลัพธ์แห่งความสำเร็จได้อย่างแท้จริง
หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สามารถนำมาปรับใช้กับภาคธุรกิจ และการใช้ชีวิตประจำวันของบุคลากรได้เป็นอย่างดี ซึ่งองค์กรได้จัดทำโครงการส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต ดังเช่น การอบรมคุณธรรมและจริยธรรม เพื่อการพัฒนาตนเองและองค์กร
การหาโอกาส อุปสรรค และความเสี่ยงในการดำเนินงาน สามารถช่วยให้องค์กรมีการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ  ในอนาคต  รวมถึงช่วยให้บริษัทสามารถวางแผนการดำเนินงานล่วงหน้า  ทั้งในระยะสั้น และระยะยาวอย่างเป็นระบบ ผ่านโครงการที่องค์กรมุ่งมั่นยกระดับมาตรฐานแรงงานไทย (มรท. 8001-2553) โดยเป้าหมายของบริษัทฯ ต้องได้รับการรับรองมาตรฐานแรงงานไทยขั้นสูงสุด สอดคล้องกับมาตรฐานสากลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
การนำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรมไปใช้ในองค์กร ช่วยทำให้องค์กรเข้มแข็ง และเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน  อีกทั้งบุคลากรสามารถวางแผนการใช้ชีวิตด้วยความรอบคอบและระมัดระวังในทุกๆ ด้าน  ซึ่งส่งผลทำให้บุคลากรมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น องค์กรได้จัดโครงการให้ความรู้พนักงานด้านบริหารการเงิน  เพื่อให้พนักงานมีสุขภาพทางการเงินที่ดี สร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับพนักงาน  และโครงการ ให้คำปรึกษาในการแก้หนี้ เพื่อเพิ่มความสุขให้พนักงานบริษัทจัดทำโครงการประชาสัมพันธ์ให้พนักงานที่มีหนี้ และต้องการให้บริษัทช่วยเจรจาประนอมหนี้ 
นอกจากนี้ บุคลากรของธนากรผลิตภัณฑ์น้ำมันพืชล้วนมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์พลังงานและใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า โดยได้ริเริ่มจัดทำโครงการ คืนคลองสวยน้ำใสให้ชุมชนของเรา”  เพื่อเป็นการฟื้นฟูและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอีกด้วย

เรียบเรียงจากงานสัมมนาและศึกษาดูงานองค์กรต้นแบบ หัวข้อ พัฒนาองค์กรอย่างสมดุลพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงกรณีศึกษา บริษัท ธนากรผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช จำกัด โดยคุณอดุลย์  เปรมประเสริฐ




Comments