EEC ตัวแปรสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งอนาคตของไทย







EEC

ตัวแปรสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งอนาคตของไทย


               สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) พ.ศแล้วอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2561 ซึ่งการผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนภาคเอกชนทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ ในการเลือกเข้ามาลงทุนพัฒนาและขับเคลื่อน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย 4.0 (Thailand 4.0) อันจะมีส่วนช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ และสามารถนำพาประเทศไทยให้ก้าวสู่ประเทศรายได้สูงในอนาคต
               ภาครัฐเองก็ได้มีความพยายามส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ EEC เพื่อให้การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC สัมฤทธิ์ผลมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น การเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการขยายตัวทางด้านการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 ท่าอากาศยาน โครงการพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด หรือการให้แรงจูงใจผ่านสิทธิประโยชน์ทางภาษี รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์ของ BOI เพิ่มเติม
               ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) พ.ศที่เพิ่งพิจารณาให้ความเห็นชอบนั้นนับได้ว่าเป็นส่วนเติมเต็มสำคัญอีกประการในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศตัดสินใจเลือกลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายบนพื้นที่ EEC โดยภายใต้ พ.ร.บ. ดังกล่าวนั้นได้ให้สิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษีแก่นักลงทุนเพิ่มเติม อาทิ การต่ออายุการเช่าที่ดินเพิ่มได้สูงสุด 99 ปี การปรับปรุงเงื่อนไขการจัดตั้งศูนย์บริหารเงิน หรือการออกใบอนุญาตต่างๆที่รวดเร็วมากขึ้น อาทิ การจัดสรรที่ดิน การจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และสุขภาพ (EHIA) หรือแม้กระทั่งการให้สัมปทานต่างๆ 
               ร่าง พ.ร.บ. EEC ข้างต้นมีส่วนช่วยลดความไม่แน่นอนของกฏระเบียบการลงทุน  และเพิ่มความมั่นใจให้กับนักลงทุนในการลงทุนขนาดใหญ่ในระยะยาวมากขึ้น เนื่องจากการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแห่งอนาคตใน EEC นั้น ผู้เล่นหลักที่แท้จริงจะมาจากการลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรมและเป็นผู้ลงทุนสำคัญในพื้นที่ EEC อยู่แล้ว  ซึ่งนักลงทุนญี่ปุ่นนับได้ว่าเป็นนักลงทุนหลักในพื้นที่ (ราวร้อยละ 50 ของนักลงทุนต่างชาติใน EEC) โดยเน้นการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์และส่วนประกอบและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รองลงมาเป็นนักลงทุนจีน (ร้อยละ 4.2) ที่เริ่มเห็นสัญญาณการลงทุนที่มากขึ้น โดยเฉพาะการผลิตเซลล์และแผงเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ การผลิตชิ้นส่วนโลหะ การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากยางพารา พลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก รวมถึงโรงแรม ซึ่งจะเห็นได้ว่า ภาพรวมการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติใน EEC ส่วนใหญ่จะอยู่ในอุตสาหกรรม First S-Curve อยู่แล้ว
               ดังนั้น หากมองไปในระยะสั้น-กลาง ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่เพิ่มขึ้นจากการตราและประกาศ พ.ร.บ. EEC จะยิ่งมีส่วนช่วยให้ทิศทางการลงทุนจากต่างประเทศในพื้นที่ EEC เร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่มีศักยภาพในการต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคตในพื้นที่ EEC อยู่แล้ว (First S-Curve) เนื่องจากไทยมีความได้เปรียบเมื่อเทียบกับคู่แข่งและสามารถพัฒนาต่อยอดได้ง่ายกว่า และมีอุตสาหกรรมสนับสนุน (Supporting industries) ในพื้นที่ ซึ่งได้แก่
             อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์สมัยใหม่ (Next-generation automotive) โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้า (Hybrid) และรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (Plug-in Hybrid) ที่มีศักยภาพในการต่อยอดการผลิตของค่ายรถสัญชาติญี่ปุ่นและเยอรมัน รวมถึงค่ายรถสัญชาติจีนที่เริ่มแสดงเจตจำนงลงทุนใน EEC
             อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ  ซึ่งไทยอยู่ในฐานะหนึ่งในศูนย์กลางการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน โดยอาจเน้นการออกแบบด้านอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น อาทิ IC Design หรือ Embedded design ควบคู่ไปกับการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ชนิดใหม่ที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเตอร์เน็ต อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านอัจฉริยะ (Smart home appliance) ) ที่สามารถต่อยอดจากฐานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าเดิมที่มีอยู่ หรืออุปกรณ์สำหรับสวมใส่ในยุคดิจิทัล (Wearable device) โดยนักลงทุนหลักคาดว่าจะมาจากญี่ปุ่น จีน และสหรัฐฯ
             อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพและสุขภาพ โดยอาจเห็นกระแสการลงทุนที่เน้นกลุ่มนักท่องเที่ยวกำลังซื้อสูง อาทิ ธุรกิจเรือยอร์ช รวมไปถึงท่าจอดเรือยอร์ชและสิ่งอำนวยความสะดวก รวมทั้ง การลงทุนในธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical tourism) ที่สอดคล้องกับภาวะสังคมสูงวัยในหลายประเทศ ซึ่งนักลงทุนที่มีศักยภาพคาดว่าจะมาจากจีนเพื่อตอบโจทย์กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนในไทยที่มีราว 10 ล้านคนต่อปี
               นอกจากนี้ อุตสาหกรรมภายใต้ New S-Curve บางประเภทก็สามารถพัฒนาต่อได้ใน EEC อย่าง อุตสาหกรรมอากาศยาน (การซ่อมบำรุงเครื่องบิน (MRO) และโลจิสติกส์ ซึ่งจากแนวโน้มดังกล่าวข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การลงทุนในพื้นที่ EEC ที่เร่งขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรม First S-Curve จะมีส่วนช่วยให้มูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI in BOI basis)ขยายตัวจาก 283,000 ล้านบาทต่อปี ในปี 2560 ไปอยู่ที่ประมาณ 400,000 ล้านบาทต่อปี ภายในปี 2565 และเพิ่มสัดส่วนการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในพื้นที่ EEC เป็นร้อยละ 65
               อย่างไรก็ดี จากแนวโน้มการลงทุนที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากภาคเอกชนและภาครัฐ ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของแรงงานในพื้นที่ย่อมนำมาซึ่งความต้องการใช้สาธารณูปโภคพื้นฐานที่มากขึ้นตาม โดยเฉพาะความต้องการใช้น้ำประปาและไฟฟ้าสำหรับอุตสาหกรรมและการอุปโภคบริโภคในพื้นที่จนอาจนำมาซึ่งความท้าทายทางด้านอุปทานที่อาจไม่สามารถรองรับการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ได้ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินเบื้องต้นว่า สาธารณูปโภคด้านน้ำประปานั้นถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ทางภาครัฐต้องเร่งจัดการ เนื่องจากปริมาณแหล่งน้ำดิบในพื้นที่ 3 จังหวัด (Water supply) อาจเริ่มไม่สามารถรองรับอุปสงค์น้ำประปาที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป ขณะที่ความสามารถจ่ายไฟของ กฟภ. ในปัจจุบัน (Electricity supply) น่าจะยังคงรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ EEC ได้ถึงแค่ราวปี 2570 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า
               ในระยะยาว การพัฒนาอุตสาหกรรม New S-Curve บางประเภทในไทยที่ใช้นวัตกรรมเข้มข้น อย่างอุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม (Robotics) หรืออุตสาหกรรมดิจิทัล และ Internet of Things (IoT) หรือแม้กระทั่งการพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุนแห่งอนาคตที่มีความซับซ้อนและใช้เทคโนโลยีระดับสูง (High-tech supporting industry) อาจประสบความท้าทายได้ บนข้อเท็จจริงที่ว่าศักยภาพและความพร้อมทางด้านนวัตกรรมของไทยอยู่ในระดับที่เริ่มแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนได้ยากขึ้น ดังจะเห็นได้จาก The Global Innovation Index ปี 2560 (GII 2017) ที่เวียดนามแซงไทยขึ้นไปอยู่ในอันดับที่ 3 ของอาเซียนรองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย หรือแม้แต่ The Global Competitiveness Index (GCI) ปี 2560-2561 ในด้านนวัตกรรมที่ไทยเป็นรองสิงคโปร์ มาเลเซียและอินโดนีเซีย ขณะที่เวียดนามกำลังตีตื้นขึ้นมา จนอาจส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกลงทุนของนักลงทุนในอุตสาหกรรมข้างต้นในประเทศไทย
               นอกจากนี้ นโยบายจูงใจการลงทุนในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของภาครัฐยังคงเน้นมาตรการทางด้านภาษีเป็นหลัก ซึ่งอาจไม่ได้เป็นแรงจูงใจมากพอสำหรับการลงทุนของเอกชน เนื่องจากหลายอุตสาหกรรมใน New S-Curve นั้นเป็นอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศซึ่งทำให้ต้นทุนการลงทุนอาจสูงกว่าโครงการอื่นๆ ประกอบกับผลลัพธ์จากการลงทุนที่มีความไม่แน่นอนสูง
               ดังนั้น ทางการไทยจึงได้ริเริ่มโครงการย่อยภายใต้ EEC อีก 2 โครงการในปี 2560 ที่ผ่านมา เพื่อช่วยยกระดับและเสริมสร้างศักยภาพของไทยในด้านการวิจัยและพัฒนา (Research and Development: R&D) อุตสาหกรรมขั้นสูงได้ด้วยตนเอง และลดการพึ่งพาเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากต่างประเทศซึ่งมีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง โดย 2 โครงการย่อยดังกล่าว ประกอบด้วยเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก (Eastern Economic Corridor of innovation: EECi) ในจังหวัดระยอง ที่เน้นการวิจัยนวัตกรรม 3 ประเภทหลัก ไม่ว่าจะเป็น นวัตกรรม Automotive Robotic (ARIpolis) สำหรับต่อยอดอุตสาหกรรมดั้งเดิม นวัตกรรม Biopolis ซึ่งเป็นรากฐานของอุตสาหกรรมสมัยใหม่ และ Space Krenovapolis รวมถึงเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Eastern Economic Corridor of digital: EECd) ในเขตจังหวัดชลบุรี ซึ่งเน้นเรื่องการวิจัยอวกาศและอุตสาหกรรมดิจิทัล
               ทั้งนี้ การจะดึงดูดการลงทุนในโครงการย่อย EECi และ EECd ให้ประสบความสำเร็จได้นั้น ต้องเป็นการบูรณาการความร่วมมือของหลายฝ่ายอย่างจริงจัง โดยภาครัฐควรสนับสนุนมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีเพิ่มเติมและช่วยประคับประคองการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคตอย่างเป็นระบบ อาทิ การริเริ่มโครงการนำร่องด้านการผลิตอัจฉริยะในอุตสาหกรรมตัวอย่างของไทย หรือการสนับสนุนด้านการเงินให้แก่บริษัทที่ทำ R&D ไม่ว่าจะเป็นเงินลงทุนเริ่มต้นที่แตกต่างกันออกไปตามความยากง่ายของการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย (Cash layout) โดยอาจให้เป็นสัดส่วนของจำนวนเงินลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนาในแต่ละปี
               ส่วนภาคเอกชนเองอาจปรับตัวด้วยการร่วมลงทุนกับนักลงทุนต่างชาติที่มีศักยภาพในการผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีซับซ้อน อาทิ การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับ Smart electronics ที่สามารถปรับใช้ได้ในหลากหลายอุตสาหกรรมแห่งอนาคต พร้อมเรียนรู้การรับและต่อยอดเทคโนโลยีควบคู่กันไป (Technology transfer) เพื่อความยั่งยืนของการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคตและสามารถนำมาประยุกต์เป็นเทคโนโลยีของไทยได้อย่างแท้จริง

by HUNT Magazine Issue44

Comments