Cryptocurrency ทางเลือก หรือทางลวงทางการเงิน


Cryptocurrency ทางเลือก หรือทางลวงทางการเงิน


ก็ลุ้นนะครับว่าจะมีสัปดาห์ไหนไหมที่แม่การะเกด จะนำ Bitcoin ไปชำระค่าสั่งทำกระทะ เครื่องกรองน้ำ ฯลฯ แก่ จีนฮงผู้ประดิษฐ์ทุกสิ่งอย่างในจักรวาล ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง Bitcoin คงมีแต่ขาขึ้น อย่างน้อยก็ในบ้านเรา แต่ที่ผ่านมา การเก็งกำไรสกุลเงินประเภท Cryptocurrency นี้ในตลาด รวมถึงข่าวที่ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างจีน ญี่ปุ่น จะออกกฎคุมเข้มการใช้เงินสกุลนี้ หรือแม้แต่ ประเทศเวเนซูเอลาที่เศรษฐกิจทุนนิยมออกพิษจนพังระเนระนาด แต่บังอาจชิ่งด้วยการออกสกุลเงินดิจิตอลของตัวเองมาใช้มันเสียเลย ทำให้มีคำถามมากมายว่าสรุปแล้ว อนาคตของ Bitcoin   หรือ Cryptocurrency เงินดิจิทัล ที่มากับกระแสการระดมทุนที่เรียกกันว่า ICO ... Initial Coin Offering จะเป็นโอกาสหรือหายนะสำหรับผู้ประกอบการกันแน่
เพื่อหาคำตอบและความเชื่อมั่นในการใช้ Bitcoin อาจารย์ ธีรวุฒิ ศรีพินิจ จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์   พาผมย้อนไปไกลกว่าสมัยอโยธยาเสียอีกครับ ย้อนไปศึกษากันว่ามนุษย์เรามีความฉลาดในการหาอะไรบางอย่างมาเป็นตัวกลางที่เราเรียกว่า เงินแทนที่จะเอาของแลกของกันตรง ๆ ซึ่งทำให้ระบบเศรษฐกิจเติบโตได้มาก  เราเริ่มต้นมาตั้งแต่ การใช้เปลือกหอย ต่อมาก็ใช้โลหะมีค่า เช่น ทอง  ธนบัตร บัตรเครดิต แล้วก็มาสู่ เงินเสมือนเช่น Bitcoin ที่เราได้ยินกัน 
สมัยก่อนเวลาเขาซื้อของขายของกันเขาจะใช้เปลือกหอยชนิดหนึ่งที่เรียกว่า cowrie เปลือกหอยชนิดนี้มีความสวยและคนก็ชอบมัน พอคนชอบ เราก็บอกว่าขอชำระค่าสินค้าเป็นเปลือกหอยนี้ดีกว่านะ  เมื่อทุกคนเห็นว่าเปลือกหอยนี้เปลี่ยนมือได้  ก็ยอมรับมันเป็นตัวกลางในการซื้อขาย  แต่ถ้าไม่มีใครยอมรับมัน อย่างแย่ที่สุดมันก็สวย เก็บไว้ดูเล่นได้ แต่เปลือกหอยนี่มันแตกง่าย ต่อมาคนเปลี่ยนมาใช้ทองกัน  ทองเก็บง่ายกว่ากันมาก จึงเริ่มเป็นที่นิยมแทนเปลือกหอย  ต่อมาคนเรารู้สึกว่าทองนี่มันหนัก แล้วเวลาจะซื้อข้าวกินสักจานจะแบ่งทองกันอย่างไร แทนที่คนจะพกทอง คนก็จะเอาทองไปฝากร้านทอง หรือร้านธนกิจอื่น ๆ ร้านทองหรือร้านธนกิจพวกนี้ก็จะออกใบนำฝากมาให้เรา เรียกว่า ธนบัตร (Bank note) ทีนี้เราก็จ่ายกันด้วยธนบัตรแทน  และคนรับก็รู้ว่าถ้าอยากได้ทองเมื่อไหร่ก็เอาไปขึ้นทองได้ทุกเมื่อ  
พอเศรษฐกิจเติบโตขึ้น ร้านธนกิจต่าง ๆ ก็ออกธนบัตรของตนเองกันเต็มไปหมด คราวนี้เริ่มยุ่ง เพราะร้านธนกิจพวกนี้ต่างก็ออกธนบัตรกันเยอะไปหมด จนไม่รู้ว่าเชื่อถือได้หรือไม่  และมีการหลอกลวงเกิดขึ้น  จนสุดท้ายผู้ดูแลความสงบก็บอกว่า เอาอย่างนี้แล้วกัน ต่อไปนี้พวกเธอทุกคนหยุด เดี๋ยวฉันจะพิมพ์เอง และเพื่อให้ชาวบ้านไว้ใจ ก่อนที่พวกเธอจะทำธนกิจอะไรต้องได้รับอนุญาตจากฉันก่อน และใครอยากแลกเป็นทอง เอามาแลกกับฉันได้ เมื่อทำแบบนี้ผู้ดูแลหรือรัฐก็จะสามารถติดตามและควบคุมการหลอกลวง และทำให้ระบบการชำระเงินมีความมั่นคงขึ้นมาก  ระบบนี้ได้ดำเนินมาจนเป็นระบบรัฐโดยธนาคารกลางเป็นผู้พิมพ์ธนบัตร และดูแลความปลอดภัยของสกุลเงินของแต่ละประเทศ  การที่รัฐให้คำมั่นขนาดนี้ทำให้คนเชื่อถือในสกุลเงิน และเชื่อว่าจะได้รับความคุ้มครอง ความนิยมของระบบการชำระเงินระบบนี้โตเร็วมาก จนปัจจุบันไม่สามารถมีทองให้แลกคืนเท่ากับจำนวนเงินที่ใช้อยู่  ระบบนี้อยู่ได้ก็เพราะคนเชื่อว่ารัฐจะดำเนินต่อไปได้ และ แม้ว่าไม่มีทองหนุนหลัง รัฐก็เก็บภาษีมาจ่ายได้อยู่ดี
เมื่อการใช้ธนบัตรและระบบการชำระเงินผ่านธนาคารทำได้สะดวกและปลอดภัย คนก็เริ่มไปไกลกว่านั้น คือแทนที่จะต้องจ่ายกันซึ่งหน้าก็เริ่มทำการโอนเงิน แทนที่จะจ่ายกันทันทีก็เริ่มขอยืมแล้วจ่ายทีหลัง ที่เราเรียกว่า เครดิตนั่นเอง การโอนเงินหรือบัตรเครดิตนี้ทำโดยธนาคาร หรือสถาบันการเงินที่ถูกรัฐกำกับอีกที ทำหน้าที่เป็นคนกลางเพื่อประกันความมั่นใจกับเราว่าคนแปลกหน้าจะโอนเงินให้เรา หรือ คนที่จะกินก่อน เราจะได้เงินคืนจริง ถ้าเขาไม่จ่าย ธนาคารหรือสถาบันการเงินนั้นจะจ่ายให้เราอาจารย์ธีรวุฒิกล่าว
จากวิวัฒนาการของ เงิน​จะเห็นว่าวนเวียนอยู่กับคำไม่กี่คำคือ การยอมรับ ความน่าเชื่อถือ การกำกับดูแล และ คนกลาง โดยสรุป เงินจะมีค่าเพราะมันเป็นที่ยอมรับ  แต่คนเราอาจรู้หน้า แต่ไม่รู้ใจ ใครจะเชื่อถือได้  จึงต้องมีคนกลางมาทำหน้าที่ให้ความมั่นใจ  และเพราะคนอาจะมีเจตนาไม่ดีต่อกัน จึงต้องมีการกำกับดูแลเพื่อให้ระบบมันราบรื่นเดินต่อไปได้    สุดท้ายก็จบที่ความไว้ใจ ถ้าเรารู้เขารู้เราทุกอย่าง ก็ไม่ต้องมีใครมากำกับดูแล ไม่ต้องมีใครมาค้ำประกัน  
วิวัฒนาการทางการเงินที่ทำให้คนเริ่มรู้สึกว่าการทำอะไร ๆ ผ่านคนกลางนี่วุ่นวาย และ มีต้นทุน ประกอบกับเทคโนโลยีที่ดีขึ้น ทำให้เราเริ่มโอนเงินเองได้โดยไม่ต้องไปธนาคาร แต่ยังต้องผ่านธนาคารอยู่ดี  Bitcoin จึงเริ่มต้นขึ้นมาเพื่อจะพ้นจากข้อจำกัด เช่น การผ่านตัวกลาง การกำกับดูแล การแลกเงินตามสกุลต่าง  ๆ และการผ่านกระบวนการมากมาย
Bitcoin อาศัยวิทยาการคอมพิวเตอร์เพื่อก้าวข้ามกำแพงตัวกลางเหล่านี้ Bitcoin เป็น เงินเสมือนที่สร้างโดยคอมพิวเตอร์ ซึ่ง Bitcoin จะไม่ถูกควบคุมโดยใคร นอกจากระบบของตัวมันเอง การโอนเงินก็ไม่ต้องผ่านธนาคารหรือสถาบันการเงินอีกแล้ว เราสามารถโอนกันเองโดยตรงได้เลย ทำให้การโอนเงินทำได้อย่างรวดเร็วมาก และ ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมสูงเพราะไม่มีตัวกลาง 
การใช้ เงินตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะรูปแบบใดจะต้องมีอะไรรองรับหรือหนุนหลังมันเสมอ เช่น  เปลือกหอย ถ้าเราไม่ใช้มันเพื่อการแลกเปลี่ยน มันก็มีคุณค่าในตัวมันเอง เอาไว้ดูเล่นก็สวย เก็บเป็นของสะสมได้  ทอง ถ้าไม่ใช้แลกเปลี่ยน ตัวมันเองนอกจากจะสวยแล้วยังมีประโยชน์ด้านอื่น ๆ อีกด้วย มีมูลค่าและคุณค่าในตัวมันเอง  พอมาถึงธนบัตร ถึงแม้ตัวมันเองไม่มีค่ามากนัก แต่มันสามารถเอาไปแลกเป็นทองได้ หรือ รัฐบาลก็ค้ำประกันอยู่ว่ามันใช้ได้ หรือถึงแม้จะเลิกใช้ ก็ยังกลายเป็นของสะสมที่มีแต่จะเพิ่มมูลค่าให้ผู้ถือ ท้ายที่สุด บัตรเครดิต ซึ่งที่จริงแล้วเป็นเพียงการลงบัญชีแต่ตัวเลขทางบัญชีนี้จะมีสถาบันการเงินค้ำประกันอยู่เสมอ

แต่ Bitcoin นี่สิครับ ไม่มีอะไรหนุนหลังเลย  มันมีตัวตนเฉพาะในระบบคอมพิวเตอร์เท่านั้น  เราไม่สามารถหยิบจับมันได้ อาจารย์ธีรวุฒิเปรียบให้เราฟังว่า เหมือนกับเราเปิดไฟดวงหนึ่งในห้องที่เรามองไม่เห็น เรามีสิทธิในไฟดวงนี้  หรือลองจินตนาการอีกแบบหนึ่งก็ได้ว่า เด็กคนหนึ่งวาดรูปเหรียญในคอมพิวเตอร์ แล้วเด็กคนนี้บอกว่าต่อไปนี้ฉันจะใช้เหรียญที่วาดมานี้ไปซื้อขนม ถ้าใครยอมขาย ฉันจะโอนสิทธิ์การถือรูปเหรียญนี้ไปให้  คนขายก็ต้องคิดว่าเดี๋ยวจะมีคนอื่นที่จะยอมรับรูปเหรียญที่ว่านี้ต่อจากเรา เขาก็จะยอมรับมัน และเมื่อกระบวนการนี้เกิดขึ้นเรื่อย ๆ รูปเหรียญที่ว่านี้ก็มีค่าขึ้นมา ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อมันมีค่ามากขึ้นเรื่อย ๆ และได้ยินใครต่อใครที่แห่กันไปถือครอง รวยกันไปตาม ๆ กัน  คนที่กลัวจะตกขบวนก็เริ่มทยอยเข้าไปถือไว้บ้าง  มูลค่าจึงสูงขึ้นไปใหญ่  และเมื่อมันเป็นที่ยอมรับมากขึ้น มันก็เริ่มเป็นทางเลือกเพื่อชำระเงิน แน่นอนครับว่า Bitcoin ไม่ใช่แค่รูปเหรียญที่เด็กคนหนึ่งวาดไว้  จริง ๆ มันไม่ได้มีหน้าตาเป็นเหรียญด้วยซ้ำ มันเป็นแค่สัญลักษณ์ที่มีตัวตนเพียงแค่ในระบบคอมพิวเตอร์ และ รากแก้วที่สำคัญของ Bitcoin ก็คือวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า Block Chain
โลกปัจจุบันคือการแข่งกันเรื่องข้อมูล  ใครมีข้อมูลมากกว่า เข้าถึงได้เร็วกว่า และเก็บรักษามันไว้ได้ จะได้เปรียบมาก  ถ้าอยากรู้ว่าข้อมูลมีค่าขนาดไหนต้องลองดูมูลค่าบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ New York เราจะเห็นว่าปัจจุบันบริษัทที่มูลค่าตลาดสูงเป็นลำดับต้น ๆ ล้วนเป็นบริษัทที่มีข้อมูลในมือมหาศาลทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น Facebook หรือ Google ที่มีมูลค่าตลาดสูงกว่าบริษัทที่ยิ่งใหญ่อย่าง General Ford เสียด้วยซ้ำ
ความสำคัญของข้อมูลนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน ในตำราพิชัยสงครามวลีที่ว่า รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง เป็นคำกล่าวที่บอกความสำคัญของข้อมูลในแบบฉบับไทยได้เป็นอย่างดี  เมื่อข้อมูลมีความสำคัญ ความปลอดภัยของข้อมูล(Data Security) ยิ่งมีความสำคัญมากกว่า ความปลอดภัยของข้อมูลประกอบด้วยสองส่วน คือ ส่วนแรก ความปลอดภัยในการเข้าถึงข้อมูล (Access)  และ ส่วนที่สอง คือความถูกต้องของข้อมูล (Integrity) เพื่อให้ไม่มีการปนเปื้อนหรือการเปลี่ยนแปลงของข้อมูลนั้น สำหรับความสำคัญของ ความถูกต้องของข้อมูล นั้น ลองจินตนาการว่า 2 ประเทศที่ทำการรบกัน ต้นทางต้องการส่งสารไปยังลูกน้อง เพื่อระบุเวลาและสถานที่ในการเข้าจู่โจม แต่ระหว่างทางถ้าข้อมูลผิดเพี้ยน การรบก็แพ้ได้ในทันที 
สมัยก่อนการทำสิ่งเหล่านี้จะมีการเข้ารหัส ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่า (cryptography) ส่วนอีกทางหนึ่งเมื่อการรักษาความถูกต้องของข้อมูลเป็นเรื่องยาก และมีต้นทุนสูง วิธีหนึ่งที่มักทำกันคือนำข้อมูลเหล่านี้มารวมกัน และทำให้การเข้าถึงยาก เหมือนกับที่เราเอาของไปไว้รวมกันในตู้เซฟ แล้วลงทุนทำตู้เซฟให้มีความปลอดภัยสูง  ถ้าเทียบกับคอมพิวเตอร์ คือทำให้ระบบเข้าถึงยากมาก  แต่ข้อพึงระวังคือการถูกเจาะระบบ ที่คนเจาะจะได้ข้อมูลทั้งหมดไป และผู้ได้ข้อมูลไปจะเปลี่ยนแปลงข้อมูลอย่างไรก็ได้
หลักการของ Block Chain คือต้องการรักษาความถูกต้องของข้อมูล ความน่าเชื่อถือของข้อมูล  แต่แทนที่จะเก็บไว้ที่เดียวกัน ก็ใช้วิธีกระจายไปยังคอมพิวเตอร์อื่น ๆ ในระบบเครือข่าย   กล่าวคือ ถ้าเราจะส่งข้อมูลหนึ่งไปถึงปลายทาง แทนที่จะส่งผ่านคอมพิวเตอร์เครื่องเดียว ซึ่งมีความเสี่ยงว่าข้อมูลนี้จะถูกเปลี่ยนแปลง   Block Chain จะใช้วิธีส่งข้อความเดียวกันนี้ไปเข้าคอมพิวเตอร์หลายๆเครื่องในระบบ เพื่อยืนยันความถูกต้องและเมื่อระบบยืนยันความถูกต้องแล้ว จะนำข้อมูลนี้มาเรียงกัน หรือที่เรียกว่า Block Chain ถ้าจะทำการแก้ไขข้อมูล จะต้องแก้ไขข้อมูลในทุกคอมพิวเตอร์พร้อมๆกัน และจะต้องแก้ไขข้อมูลก่อนหน้านี้ทุกๆ อันด้วย วิธีการเช่นนี้จึงทำให้สามารถจัดการเรื่องความถูกต้องของข้อมูลได้ และเป็นรากฐานที่สำคัญของระบบ cryptocurrency ทั้งหมดก็คือความถูกต้องของข้อมูล หรือเหรียญเสมือน และ ธุรกรรม จะถูกตรวจสอบด้วยระบบเครือข่าย แทนที่จะรวมศูนย์ไว้ที่เดียว และดำเนินการด้วยระบบคอมพิวเตอร์
เมื่อ Bitcoin ซึ่งคือ แบรนด์หนึ่งของ cryptocurrency ประสบความสำเร็จ จึงเกิดการออกเหรียญเสมือนนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ  ด้วยวิธีการตรวจสอบความถูกต้องในระบบที่พัฒนาให้มีความรวดเร็ว เชื่อถือได้ และจัดการธุรกรรมจำนวนมากพร้อม ๆ กันได้  ตัวอย่างการประยุกต์ที่สำคัญอันหนึ่ง คือการระดมทุนผ่านการออกเหรียญเสมือน หรือ ICO (Initial Coin Offering) ซึ่งผู้ซื้อเหรียญก็คือการซื้อสิทธิ์ในเหรียญนี้ ส่วนสิทธิ์นั้นจะทำอะไรได้ ก็แล้วแต่คนออกเหรียญจะสัญญา สมัยก่อนหากใครจะลงทุนกับเรา เราจะต้องมีคนกลางเพื่อยืนยันความน่าเชื่อถือ ซึ่งนั่นก็คือต้นทุนมหาศาล  การออกเหรียญเพื่อระดมทุนนี้เป็นการตัดคนกลางทิ้ง เจ้าของโครงการสามารถระดมทุนจากนักลงทุนได้โดยตรง นักลงทุนก็สามารถติดต่อโครงการได้โดยตรงโดยไม่ต้องผ่านคนกลาง ซึ่งจะทำให้ระบบการเงินและการการลงทุนมีประสิทธิภาพขึ้นมาก
เทคโนโลยี Block Chain ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้มากมายไม่จำกัดเฉพาะการออกเหรียญเท่านั้น เช่น การเก็บข้อมูลการชำระเงินของลูกค้า ประวัติทะเบียนราษฎร์ ไปจนถึงการลงคะแนนเลือกตั้ง แต่ทว่า แม้ Block Chain จะแก้ปัญหาการปนเปื้อนข้อมูลได้ แต่มันไม่สามารถแก้ไขการหลอกลวงของคนได้
ดังนั้น คนดูแลระบบ ก็ยังมีความสำคัญอยู่หรือไม่?
นอกเหนือจากการที่ เงินต้องเป็นที่ยอมรับแล้ว  สิ่งสำคัญคือเสถียรภาพของมัน  ถ้าเงินนั้นไม่มีเสถียรภาพ ก็จะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมไม่มีเสถียรภาพไปด้วย  ที่ผ่านมาการมีคนกลางก็เพื่อยืนยันความน่าเชื่อถือ ความถูกต้องของอีกฝ่ายหนึ่ง เพียงแต่ว่าการมีคนกลางมีต้นทุนสูง การชำระเงินผ่าน Bitcoin หรือ การระดมทุนผ่าน ICO นี้จึงเป็นการประหยัดต้นทุนได้อย่างมาก และทำให้ระบบเศรษฐกิจเดินหน้าไปได้ แต่อย่างไรก็ตาม แม้ Block Chain สามารถแก้ปัญหาการปนเปื้อนข้อมูลได้  แต่ Block Chain ไม่สามารถแก้ปัญหาการหลอกลวงได้  
ถ้าเราซื้อเหรียญเพื่อลงทุน สิ่งที่ Block Chain ช่วยได้ คือเงินไปถึงเขา และเราอ้างสิทธิได้   แต่ Block Chain ไม่สามารถบอกได้ว่าบริษัทที่เราลงทุนนั้นเชื่อถือได้ไหม  เราผู้เป็นนักลงทุนจะต้องมีหน้าที่ในการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของโครงการนั้นเอง จะไม่มีใครมาทำหน้าที่กลั่นกรองให้เราแล้ว จะเรียกว่าตัวใครตัวมันก็ได้  หรือคนที่ขาดความรู้ก็อาจจะถูกหลอกได้ง่าย  การจะทำให้ระบบมีเสถียรภาพจึงต้องมีกติกาที่ยอมรับกัน และมีการลงโทษคนที่ทำผิด ซึ่งคนที่ทำหน้าที่นี้ก็คือผู้ดูแลระบบ (Regulator) นั่นเอง ซึ่งอาจจะเป็นภาครัฐหรือเอกชนก็ได้
ต้องยอมรับว่าในอีกไม่ช้า  Block Chain  จะเข้ามามีบทบาทในชีวิตเราอย่างมาก ในรูปแบบต่างๆ  ไม่เฉพาะ cryptocurrency เช่น Bitcoin ซึ่งจะทำให้เราลดต้นทุนตัวกลาง หรือ ตัวแทนได้อย่างมาก   จะเห็นว่าเงินดิจิทัลพวกนี้ เป็นทางเลือกที่สำคัญ ซึ่งทำให้ระบบการเงินมีประสิทธิภาพมากขึ้น  ทำให้เราสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและโอกาสต่าง ๆ ได้มากขึ้น โดยไม่ต้องผ่านคนกลาง แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเทคโนโลยีไม่สามารถแก้ปัญหาการตั้งใจหลอกลวงได้  โอกาสที่ว่าจึงมาพร้อมกับความเสี่ยง นักลงทุนที่ได้รับโอกาสเพิ่มจากการใช้ Bitcoin หรือ ICO ก็ต้องรับความเสี่ยงที่มากกว่าคนอื่น และต้องทำการบ้านมากกว่าคนอื่น  ในอนาคตจำเป็นจะต้องมีการตรวจสอบดูแล จะเป็นรัฐหรือเอกชนดูแลกันเองก็ได้ เพื่อทำให้ระบบมีเสถียรภาพ  แต่ปัจจุบันเราต้องดูแลตัวเองไปก่อน อย่าไปกลัวมัน ใช้มันให้เป็นโอกาส เพียงแต่ต้องทำการบ้านและศึกษาให้ดีๆเท่านั้น

ขอบคุณข้อมูล: อาจารย์ ธีรวุฒิ ศรีพินิจ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 



Comments