ดราม่าค่าจ้างขั้นต่ำ




ดราม่าค่าจ้างขั้นต่ำ 


ประเด็นค่าจ้างขั้นต่ำจะวนมาให้สื่ออย่างผมต้องพูดคุยกับตัวแทนลูกจ้าง ตัวแทนนายจ้าง และ ตัวแทนภาครัฐทุกครั้งที่มีการเรียกร้องขอขึ้นค่าแรง หรือต้องมีการทบทวนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ถึงแม้ว่าล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะรับทราบการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ตามที่คณะกรรมการค่าจ้างเสนอขึ้นค่าจ้างระหว่าง 5 - 22 บาท/วัน ซึ่งจะมีผลบังคับตั้งแต่ 1 เมษายน 2561 โดยทั่วประเทศมีอัตราค่าจ้างตั้งแต่ 308-330 บาท ตามความต้องการของแต่ละจังหวัด
แต่กระนั้นก่อนที่จะเคาะก็ยังมีกระแสเรียกร้องจากผู้ใช้แรงงานที่ต้องการอัตราค่าจ้างที่ 360 บาทต่อวัน เท่ากันทั่วประเทศ ในขณะที่ Thailand 4.0 กำลังขู่ภาคแรงงานโดยชูการใช้เทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ หรือ แม้แต่หุ่นยนต์มาทำงานแทนแรงงานเพื่อลดต้นทุน แถมยังตอบโจทย์ทั้งสังคมสูงวัยที่จะขาดแคลนแรงงาน หรือ แม้แต่ปัจจุบันที่แม้จะยังไม่เข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มตัวเหมือนญี่ปุ่น แต่ก็ขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ ผมจึงต้องขอความรู้ความกระจ่างจากนักเศรษฐศาสตร์ อย่างอาจารย์วีระวัฒน์ ภัทรศักดิ์กำจร จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อีกเช่นเคย ถึงจุดกำเนิดของการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจจากโครงสร้างอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่อนุมัติกันไปในครั้งนี้ ซึ่งอาจารย์วีระวัฒน์อธิบายถึงประวัติของการก่อกำเนิด และกระบวนการเกิดขึ้นของการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทยว่า



เมื่อปี พ.ศ. 2516 เป็นครั้งแรกที่มีการประกาศใช้กฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศไทย โดยกำหนดอัตราไว้ที่ 12 บาทต่อวัน ในขณะนั้นกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้กำหนดและออกประกาศ แต่ปัจจุบันการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งมีตัวแทนจากฝั่งรัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง ประกอบด้วยคณะกรรมการ  3 ระดับ ได้แก่
1. คณะกรรมการค่าจ้าง มีปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน และกรรมการ 3 ฝ่าย ฝ่ายละ 5 คน
2 คณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรอง มีรองปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน และกรรมการ 3 ฝ่าย ฝ่ายละ 3 คน
3 คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และกรรมการ 3 ฝ่าย ฝ่ายละ 5 คน โดยหลักการแล้วการจัดตั้งกรรมการไตรภาคีมีจุดประสงค์เพื่อถ่วงดุลอำนาจของแต่ละฝ่าย ครั้งล่าสุดที่มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ คือวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2561 โดยจะเริ่มใช้ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2561 กรุงเทพมหานครและปริมณฑลปรับเป็น 325 บาท และจังหวัดอื่นๆ มีตั้งแต่ 308 บาท จนถึง 330 บาท เฉลี่ยแล้วอยู่ที่ประมาณ 317 บาทต่อวัน
ส่วนการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่แตกต่างกัน แทนที่จะเป็นอัตราเดียวกันทั่วประเทศนั้น ถามว่ามีความสมเหตุสมผลหรือไม่ สิ่งที่ต้องพิจารณาคือการย้อนกลับไปดูถึงหลักคิดในการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำว่ามีจุดประสงค์อย่างไร จุดอ้างอิงในการตอบคำถามนี้มาจากเอกสารขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) เนื่องจากเป็นองค์กรนานาชาติที่กำหนดกฎเกณฑ์เรื่องแรงงานโดยเฉพาะ
นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำเป็นผลผลิตของยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมหาศาลในการผลิตสินค้าที่ไม่ซับซ้อนเป็นจำนวนมาก หากปล่อยให้ค่าแรงเป็นไปตามกลไกตลาด อุปทานแรงงานที่ล้นเกินย่อมทำให้ค่าจ้างตกต่ำและขาดอำนาจการต่อรอง ดังนั้น จุดประสงค์ของค่าจ้างขั้นต่ำนั้นเรียบง่ายมาก คือเพียงแค่เป็นเครื่องมือในการประกันว่าแรงงานจะได้รับค่าจ้างไม่ต่ำไปกว่านี้ เพื่อรับรองมาตรฐานการครองชีพระดับหนึ่ง และป้องกันความไม่เป็นธรรม เกณฑ์ในการกำหนดว่าค่าจ้างขั้นต่ำควรเป็นเท่าไร จึงเป็นเกณฑ์ที่หลวมมากๆ ปัจจุบัน คณะกรรมการค่าจ้างกล่าวว่าได้ใช้สูตรการคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำโดยรวมเอาปัจจัยค่าครองชีพของลูกจ้าง ความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง ผลิตภาพ สภาพเศรษฐกิจสังคม จนออกมาเป็นตัวเลขที่เพิ่งประกาศออกมา
คำถามว่าตัวเลขดังกล่าวเหมาะสมหรือไม่ คงจะตอบชัดเจนไม่ได้ มาตรฐานการครองชีพขั้นต่ำเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้เสมอว่าควรเป็นเท่าไร แต่จะต้องเข้าไปดูว่าสูตรการคำนวณในที่นี้มีหน้าตาอย่างไร ให้น้ำหนักกับเรื่องใดเป็นสำคัญ ใช้มาตรฐานการครองชีพโดยวัดจากอะไร และที่สำคัญที่สุดคือประเด็นเรื่องความโปร่งใส ไตรภาคีมีส่วนร่วมในการกำหนดสูตรมากน้อยเพียงใด และเปิดเผยให้ประชาชนรับทราบหรือไม่
ส่วนมีความสมเหตุสมผลหรือไม่ คงจะตอบชัดเจนไม่ได้เช่นกัน เนื่องจากหลักการของ ILO ไม่ได้ระบุชัด การกำหนดให้เท่ากันทั้งประเทศมีนัยของสิทธิที่พึงได้โดยทั่วกันของประชาชน แต่การกำหนดให้แตกต่างก็มีนัยของความแตกต่างในแต่ละพื้นที่อยู่ว่าแต่ละที่มีค่าครองชีพต่างกันมากน้อยเพียงใด ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่มักให้ความเห็นว่าในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันอยู่ สิ่งที่พอทำได้คือต้องเข้าไปดูรายจ่ายทั้งหมดสำหรับตะกร้าสินค้าจำเป็น ว่ามีสัดส่วนของสินค้าที่ราคาเท่ากันทั่วประเทศมากน้อยเพียงใด เช่น สินค้าที่ซื้อจากร้านสะดวกซื้อ
ส่วนผลกระทบที่จะเกิดตามมาหลังจากนี้ แน่นอนว่าผู้ใช้แรงงานที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ และสูงกว่าระดับค่าจ้างขั้นต่ำเดิมเล็กน้อยย่อมได้ประโยชน์ ผู้ประกอบการที่จ้างแรงงานด้วยค่าจ้างขั้นต่ำย่อมเสียประโยชน์ ธุรกิจขนาดเล็กที่ใช้แรงงานเข้มข้นย่อมได้รับผลกระทบมากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีการประหยัดจากขนาด หรือการใช้ปัจจัยทุนเข้มข้นกว่าแรงงาน อาจมีธุรกิจ SMEs บางแห่งล้มหายตายจากไปบ้างอย่างแน่นอน ซึ่งมักจะเกิดทุกครั้งที่มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ส่วน SMEs ในภาคธุรกิจไหนที่จะ
หายไปนั้นอาจจะตอบไม่ได้ชัดเจน เนื่องจากประเทศไทยไม่มีการเก็บข้อมูลของ SMEs อย่างละเอียดถี่ถ้วน
สำหรับผลกระทบในภาพกว้าง ทุกครั้งที่มีข่าวคราวการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ก็มักจะมีความกังวลว่าระดับราคาสินค้าโดยรวมจะเพิ่มขึ้น ก่อนจะไปถึงจุดนั้นอยากให้ทุกคนลองนึกถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นก่อนว่าใครได้รับผลกระทบบ้าง ใครเป็นคนที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ มีจำนวนมากน้อยเท่าไร อุตสาหกรรมแบบไหนบ้าง ถ้าเราเชื่อในดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index: CPI) ที่เก็บรวบรวมโดยกระทรวงพาณิชย์
แม้แต่ตอนที่ปรับค่าจ้างขั้นต่ำอย่างก้าวกระโดดเป็น 300 บาทในปี พ.ศ. 2555 ก็ไม่ได้ทำให้ระดับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นมากนัก จากภาพด้านล่าง นอกจากนั้น แรงงานในประเทศเรายังมีอีกจำนวนมากที่ทำงานโดยไม่เกี่ยวข้องกับค่าจ้าง เช่น งานตัดผม คนขับแท็กซี่ ผู้ประกอบการเกษตร (ที่ไม่ได้จ้างแรงงาน) แม้แต่นักเศรษฐศาสตร์ก็ไม่ได้มีความกังวลมากนักว่าราคาสินค้าจะสูงขึ้น
เมื่อมาตราการอัตราแรงงานขั้นต่ำจะมีผลบังคับในเวลาอีกไม่นานนับจากนี้ ดังนั้น ผู้ประกอบการ แรงงาน แลภาครัฐควรจะปรับตัวอย่างไร อาจารย์วีระวัฒน์กล่าวว่า
“การปรับตัวมักมาคู่กับคำว่าผลิตภาพเสมอๆ เรามักจะได้ยินจากฝั่งรัฐบาลและผู้ประกอบการ บางรายถึงขั้นประกาศว่าการจ่ายเกินค่าจ้างขั้นต่ำไม่ใช่ปัญหา ขอเพียงให้ผลิตภาพแรงงานสูง นี่เป็นสิ่งที่แรงงานต้องปรับตัวเพียงฝ่ายเดียวจริงหรือไม่
ผลิตภาพแรงงานคำนวณจากมูลค่าสินค้าบริการ ต่อจำนวนแรงงานที่ใช้ เช่น ถ้าผลิตสินค้าได้ 100 บาท โดยใช้คน 5 คน ผลิตภาพแรงงานก็จะเท่ากับคนละ 20 บาท แปลว่า มีปัจจัยที่ทำให้ผลิตภาพแรงงานสูงขึ้นได้ 2 ส่วน คือตัวเศษ มูลค่าของสินค้าบริการตามราคาตลาดต้องเพิ่มขึ้น หรือตัวส่วน แรงงานผลิตสินค้าบริการที่มีคุณภาพมากขึ้น ได้จำนวนมากขึ้น หรือลดจำนวนแรงงานลง ก็อาจจะกล่าวได้ว่าแรงงานมีส่วนสำคัญในการพัฒนาผลิตภาพ
อย่างไรก็ตาม จะบอกว่าแรงงานไม่เก่งหรือไม่พัฒนาตัวเองก็คงจะไม่ถูกต้องนัก จริงอยู่ก็คงจะมีคนที่ทำงานเช้าชามเย็นชาม แต่ลองนึกถึงการทำงานที่ใช้แรงงานเข้มข้นตามสายพานการผลิต ทักษะใดบ้างที่เขาพัฒนาจากการทำงานได้ หรือเราเพิ่งเห็นการนัดประท้วงของพนักงานธนาคารแห่งหนึ่ง อาชีพ
ในสายงานธนาคารที่เสี่ยงถูกปลดออกมากที่สุดก็คือ Teller ที่ทำหน้าที่ทำธุรกรรมง่ายๆ อย่างการฝาก-ถอนเงิน ก็ต้องเข้าใจว่าเขาได้รับการจ้างวานมาให้ทำหน้าที่นี้ ไม่ได้มีหน้าที่ทำในตำแหน่งที่สร้างมูลค่ามากกว่านี้ ซึ่งไม่ได้แปลว่าคนเหล่านี้ไม่สามารถพัฒนาผลิตภาพแรงงานของตัวเองไม่ได้
นอกจากนั้น การแยกให้ชัดเจนว่าแรงงานผลิตสินค้าบริการออกมาเป็นมูลค่าเท่าไรเป็นเรื่องยาก ในโลกที่ห่วงโซ่การผลิตและรูปแบบบริการที่ซับซ้อนมากขึ้นทุกวัน ผู้ประกอบการมั่นใจได้อย่างไรว่าการจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำนั้นคือส่วนที่แรงงานผลิตได้จริงๆ บางคนทำงานจนเกษียณอายุก็ได้รับเพียงค่าจ้างขั้นต่ำ ดังนั้นการที่ คสรท. ออกมาเรียกร้องให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำบ่อยๆ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเป็นเพราะผลิตภาพแรงงานต่ำจริงๆ หรือเป็นเพราะอำนาจการต่อรองของแรงงานกับผู้ประกอบการในงานบางลักษณะ
ทั้งหมดนี้ต้องการชี้ให้เห็นว่า ผู้ประกอบการและภาครัฐเองก็มีส่วนสำคัญในการเพิ่มผลิตภาพไม่แพ้กัน ตัวผู้ประกอบการเองต้องมีวิสัยทัศน์ เลือกผลิตสินค้าบริการที่มีมูลค่าสูงและเป็นที่ต้องการของตลาดเพื่อเพิ่มตัวเศษ ภาครัฐที่อุ้ม SMEs ด้วยมาตรการทางภาษีมานาน ก็ควรจะต้องหามาตรการใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นให้มีการลงทุนพัฒนาสินค้าบริการที่มีมูลค่าสูงด้วยเช่นกัน ในระยะยาว (แต่ต้องทำอย่างเร่งด่วน) จะต้องพัฒนาการศึกษาให้คนกล้าคิดกล้าแสดงออกและมีความคิดสร้างสรรค์ เพราะในนานาประเทศก็พิสูจน์มาแล้วว่าเป็นส่วนประกอบสำคัญที่กระตุ้นให้คนพัฒนานวัตกรรมได้
ส่วนคำถามสุดท้าย ที่ว่าค่าจ้างขั้นต่ำในอุดมคติ สำหรับการเป็น Thailand 4.0 อาจารย์วีระวัฒน์ กล่าวให้ความเห็นไว้ว่า
“ในยุคปัจจุบัน อนาคต หรือจะเรียกว่า 4.0 ก็ตาม ในทางปฏิบัติ หากยึดตามหลักความจำเป็นขั้นพื้นฐานก็ควรต้องมีการปรับขึ้นทุกปี และมีการประกาศออกมาล่วงหน้าเป็นเวลานานพอให้ผู้ประกอบการรับรู้และเตรียมรับมือได้ หากพูดถึงอุดมคติจริงๆ ค่าจ้างขั้นต่ำไม่ควรมีความสำคัญถึงขนาดเป็นประเด็นระดับประเทศ คนที่ได้รับเพียงค่าจ้างขั้นต่ำไม่ควรมีจำนวนมาก เพราะโดยหลักการแล้ว ค่าจ้างขั้นต่ำควรมีไว้เพื่อรับประกันว่าต้องจ้างแรงงานด้วยอัตราไม่ต่ำไปกว่านี้ สำหรับคนที่เริ่มฝึกหัดงานและยังไม่มีความชำนาญมากนัก สุดท้ายแล้วก็อยู่ที่ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจ ความสามารถในการผลิตสินค้าบริการของประเทศ หากเราผลิตของที่คนอยากได้ มีมูลค่าสูง ค่าจ้างขั้นต่ำก็แทบจะหมดความหมายไปเอง

Comments