SME 4.0

SME 4.0


                การขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศไทยขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และกลุ่มธุรกิจไม่กี่กลุ่ม แต่ในขณะเดียวกัน 90% ขององค์กรธุรกิจไทยคือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME ที่ถึงแม้จะอยู่หรือไปในยุค 4.0...ยุคแห่งการปฏิวัติเทคโนโลยี ที่มาพร้อมกับคำเตือนคำขู่ที่มาถี่ขึ้นว่าในอีกไม่ช้าตำแหน่งงานหลายร้อยล้านตำแหน่งในตลาดแรงงานจะถูกทดแทนด้วยปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI)
                ...ถ้าเกิดอะไรขึ้นกับกลุ่มนี้ เศรษฐกิจไทยสะดุดแน่นอน และอาจทำให้เป้าหมายในการมีเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างอื่นเป็นไปได้ยากมากขึ้น งานสัมมนาทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2561 โดยสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ มีความเป็นห่วงเรื่องนี้ จึงระดมสมองนักเศรษฐศาสตร์ดาวรุ่งของสมาคมมาช่วยกันหาทางออกให้ SME ไทยก้าวไปอย่างมั่นคงกับ Thailand 4.0
                ดร. กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย จาก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI มองว่า ขณะนี้ หลายสำนักทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนคาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตจากปีที่แล้วใกล้ 4% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดตั้งแต่ปี 2555 การขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้เป็นไปตามการฟื้นตัวของตลาดส่งออกหลักของไทย ซึ่งส่งผลให้การส่งออกในปีนี้เติบโตได้เกือบ 10% รวมถึงการท่องเที่ยวก็ฟื้นตัวจากปีที่แล้ว
                อย่างไรก็ตามธุรกิจ SME ส่วนใหญ่กลับไม่รู้สึกถึงอานิสงส์ของการเติบโตของการส่งออกและการท่องเที่ยวมากนัก เนื่องจากการขยายตัวนั้นกระจุกอยู่ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว และอยู่ในจังหวัดท่องเที่ยวหลักของประเทศไทย ซึ่งไม่เกิน 10 จังหวัด จึงทำให้การกระจายรายได้ไปไม่ถึงกลุ่มคนส่วนล่างโดยรวมสักเท่าใด จึงมีคำกล่าวถึงลักษณะการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ว่าเป็นการเติบโตแบบกระจุก แข็งนอก อ่อนใน และแข่งบน อ่อนล่าง
                ขณะที่ ดร. อมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคาร CIMB Thai เตือนว่าหากประเทศไทยต้องการเดินหน้าเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า Thailand 4.0 ได้อย่างประสบความสำเร็จ เราต้องหาหนทางเร่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ เพราะถ้าแรงงานของไทยยังไร้ฝีมือ ขาดทักษะในการประกอบกิจการ หรือไม่สามารถตามเทคโนโลยีได้ทันแล้ว การลงทุนด้านนวัตกรรมที่ประเทศไทยหวังจะเพิ่มมูลค่าการผลิต เข้าสู่ Thailand 4.0 ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ
                อย่าลืมว่าประเทศไทยในปัจจุบันกำลังมีปัญหาขาดแคลนแรงงานมีทักษะ ขณะที่จำนวนแรงงานก็กำลังมีแนวโน้มลดลงตามภาวะสังคมสูงอายุ แต่การแก้ปัญหาที่ผ่านมากลับคล้ายว่าเป็นการเลี่ยงการเผชิญหน้ากับปัญหา นั่นคือการใช้แรงงานต่างด้าว เพื่อทดแทนแรงงานด้อยฝีมือที่ขาดแคลน นั่นเท่ากับปิดกั้นไม่ให้เราก้าวเดินไปข้างหน้า ก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมต้นน้ำ ไต่ระดับขึ้นบนห่วงโซ่อุปทานภาคการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น อีกทั้งย้ายฐานการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ที่ค่าแรงถูกกว่า และมีแรงงานมาก แม้การเดินหน้าแก้ปัญหาดังกล่าวได้ช่วยประคองให้ธุรกิจอยู่รอดได้ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยเติบโตช้า แต่ในระยะยาว อาจไม่เป็นผลดีต่อศักยภาพการเติบโตของประเทศ
                ดังนั้น การเดินหน้าเพื่อปฏิรูปเศรษฐกิจเข้าสู่ยุค Thailand 4.0 จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้กับการยกระดับอุตสาหกรรมไทย แต่แนวทางนี้ใช่ว่าจะราบรื่นเสมอไป เพราะการเดินหน้าเข้าสู่ Thailand 4.0 ที่ใช้นวัตกรรม หรือเพิ่มมูลค่าการผลิตนั้น โดยมากแล้วผู้ประกอบการต้องการแรงงานมีทักษะ ทั้งด้านความรู้เฉพาะด้านในงานผลิต ด้านภาษา รวมทั้งด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาคการบริการ  ซึ่งมีแนวโน้มว่าผู้ประกอบการขนาดใหญ่จะสามารถดึงดูดและพัฒนาแรงงานมีฝีมือเหล่านี้ได้ ในขณะที่ผู้ประกอบการ SME ที่นอกจากจะมีความยากลำบากในการตามเทคโนโลยีให้ทันแล้ว ยังประสบปัญหาในการดึงดูดแรงงานมีทักษะเพื่อร่วมงานเดินหน้าเข้าสู่ SME 4.0 ไปพร้อมกับธุรกิจขนาดใหญ่อีกด้วย
                 หาก SME ไม่สามารถหาหนทางในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้กับธุรกิจได้แล้ว ในอนาคต ผู้ประกอบการ SME ที่ก้าวไม่ทัน 4.0 ก็อาจถูกตัดออกให้ห่างจากห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจขนาดใหญ่ หรือพูดง่ายๆ คือปล่อย SME ให้ค่อยๆ อ่อนแอไป จากยอดขายที่ลดลง ขณะที่ผู้ที่แข็งแกร่งกว่าเท่านั้นที่จะอยู่รอดได้ภายใต้ 4.0
                ดร. พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย เสริมว่าในยุค Thailand 4.0 ที่เทคโนโลยีกำลังก้าวไปอย่างรวดเร็วนั้น มีโอกาสและความท้าทายเกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่อาจมีทรัพยากรจำกัดในการรับมือกับกระแสของการเปลี่ยนแปลง ทั้งจากตัวโมเดลธุรกิจเอง และการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของธุรกิจที่เกี่ยวข้องต่างๆ จึงถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการ SME จะต้องก้าวให้ทันกับเทคโนโลยี เพื่อจับกระแสการเปลี่ยนแปลงการแข่งขันรอบตัว และรักษาความสามารถในการแข่งขันทั้งภายในและภายนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการชำระเงิน ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วอย่างต่อเนื่อง การจ่ายเงินด้วยเงินสดกำลังจะกลายเป็นเรื่องในอดีต ธุรกิจ SME ต้องเตรียมความพร้อมเพื่อเตรียมรับมือกับธุรกิจไร้เงินสด และการจ่ายเงินรูปแบบใหม่ๆ การค้าขายแบบมีหน้าร้านได้กลายเป็นเรื่องล้าสมัยไปแล้ว  e-commerce และ social commerce กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ และเข้าถึงลูกค้าได้ลึกขึ้นและกว้างขึ้น ธุรกิจ SME จะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้ตกกระแสการโฆษณา เพราะสื่อและการตลาดแบบเดิมๆ เริ่มจะไม่ตอบโจทย์ธุรกิจสมัยใหม่ เทคโนโลยีและสื่อสังคมออนไลน์กำลังทำให้ธุรกิจเข้าถึงลูกค้าได้แบบแม่นยำและมีประสิทธิภาพ ทำอย่างไรสินค้าและบริการจึงจะเรียกความสนใจจากลูกค้าได้มากที่สุด ในต้นทุนที่ถูกที่สุด การสร้างเครือข่ายระหว่างธุรกิจ SME ด้วยกัน และเครือข่ายความสัมพันธ์กับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ และการระดมทุนแบบใหม่ๆ มีรูปแบบและความสำคัญกับธุรกิจ SME ไม่น้อย
                ขณะที่ ดร. ชนินทร์ มโนภินิเวส วิเคราะห์ว่าในบางมุม ยุคไทยแลนด์ 4.0 นี้ ก็คือยุคที่เราต้องแข่งขันกันอย่างเข้มข้นในเวทีโลก เพราะว่าคู่แข่งนั้นก้าวกระโดดจาก version 3.0 ของเขาเหมือนกัน ประเทศเพื่อนบ้านก็พยายามที่พัฒนาตนเองเพื่อไม่เป็นรองประเทศอื่นๆ ทุกคนย่อมมีความต้องการที่จะพัฒนาเหนือคนอื่นๆ เมื่อหันกลับมามองประเทศไทยเองแล้ว ช่วงที่ผ่านมานั้น การก้าวไปข้างหน้าช่างเป็นสิ่งที่ยากลำบากและท้าทายเป็นอย่างมาก ทั้งในด้านการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ ที่กำลังจะพยายามก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางออกไป ซึ่งจริงๆแล้วประเทศระดับรายได้ปานกลางอื่นๆก็มีความท้าทายคล้ายๆกัน
                ในการสัมมนาประจำปีเมื่อปีที่ผ่านมาเราพูดถึง Disruptive technology และเราก็ได้พูดคุยกันถึงการเปลี่ยนแปลงการปรับตัวในภาพใหญ่ ทั้งในโครงสร้าง และในภาคอุตสาหกรรม โดยเน้นผู้ประกอบการรายใหญ่ในระดับ sub-sector ...แน่นอนที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ย่อมมีทรัพยากรที่จะพัฒนา และเตรียมตัวเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและกำลังจะเกิดขึ้น อย่างรวดเร็วในยุคสมัยนี้
                คำถามที่ตามมาสำหรับรายย่อยคือ จะทำอย่างไรในเมื่อตัวเองนั้นก็มีขนาดที่เล็ก และพอเพียงที่จะอยู่ได้กับปัจจุบัน แต่อาจไม่ใหญ่เพียงพอที่จะวางแผนปรับตัวเพิ่มประสิทธิภาพในกิจการให้เข้ากับอนาคตที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเหลือเกิน ธุรกิจรายย่อยสามารถเพิ่มมูลค่าของกิจการตัวเองโดยต้องคำนึงถึง 3 ข้อหลัก คือ 1. การเพิ่มของทุน (capital and FDI) อาจไม่ใช่ตัวขับเคลื่อนที่สำคัญเหมือนเมื่อก่อน 2. นวัตกรรมและเทคโนโลยีดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในยุค Thailand 4.0 มากกว่าสมัยก่อน ในการเพิ่มมูลค่าการผลิต และ 3. นวัตกรรมที่ว่านั้นจะเป็นยาวิเศษสำหรับผู้ประกอบการได้จริงๆ หรือ หรือยังมีเคล็ดลับอื่นๆที่จำเป็นต่อความสำเร็จ

                เป็นคำถามที่ SME ต้องถามตัวเองอย่างสม่ำเสมอด้วยความเข้าใจถึงบริบทของอุตสาหกรรม และธุรกิจของตัวเอง ประกอบกับความกล้าที่จะลองผิดลองถูก เพราะต้นทุนในการลองสิ่งเหล่านี้ถูกลงด้วยเทคโนโลยี และบทเรียนที่มีค่ามักจะมาจากข้อผิดพลาดในอดีต SME จึงต้องกล้าที่จะผิด และเรียนรู้จากมัน เพื่อเท่าทันความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเร็วกว่าอดีตในยุค 4.0 

Comments