Thailand 4.0…Sharing Economy…Are we ready?




Thailand 4.0…Sharing Economy…Are we ready?

      ในฐานะเด็กเศรษฐศาสตร์ ผมคุ้นเคยกับคำว่า Barter ตั้งแต่เทอมแรกที่เข้าเรียน ซึ่งความจริงมันก็คือพฤติกรรมพื้นฐานของมนุษย์เมื่อเริ่มรู้จักการแลกเปลี่ยนก่อนที่จะมีเงิน และสกุลเงินตราต่างๆขึ้นมาเพื่อลดความวุ่นวายและอำนวยความสะดวก แต่แล้วคำว่า Barter ก็กลับมาอีกครั้งเมื่อผมเริ่มเป็นนักธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจสื่อ ที่มักจะมี offer แบบนี้เข้ามาเสมอ เช่น การประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการในรายการแลกกับการได้ใช้สินค้าและบริการเหล่านั้น หรือแม้แต่งานพิธิกร ที่บ่อยครั้งถ้าลูกค้ามีของดีในมือ ก็มักจะถามว่า รับเป็นเงินสดบางส่วน และ voucher ด้วยได้มั้ยค่ะ? และเมื่อไม่นานมานี้ คำว่า Sharing economy กับ collaborative consumption ก็ปรากฏขึ้นในแวดวงนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ ที่เฝ้าดูพฤติกรรมของผู้บริโภคและธุรกิจที่เปลี่ยนไปในสังคมที่กำลังก้าวเข้าสู่ cashless society ผมจึงต้องรบกวน อาจารย์ธีรวุฒิ ศรีพินิจ ขาประจำของผมจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ คุณฐิตาภรณ์ แม้ประสาท มาช่วยไขข้อสงสัยอีกครั้ง ว่าธุรกิจไทยเข้าใจปรากฏการณ์นี้และพร้อมรับมือกับมันมากน้อยเพียงไร

Sharing Economy ต่างจาก Barter System อย่างไร

         สองคำนี้ค่อนข้างต่างกันมากพอสมควร คือ Barter System เป็นระบบเศรษฐกิจที่ใช้ของแลกของ เราจะตกลงแลกเปลี่ยนกันได้ก็เมื่อผมมีของที่คุณอยากได้ และคุณก็มีของที่ผมอยากได้ในเวลาเดียวกัน ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจที่ค่อนข้างโบราณมาก เราจะนึกได้ว่ามันยากมากแค่ไหนที่เราจะค้าขายกันได้ในระบบเศรษฐกิจแบบนี้ การหาของหรือการจับคู่ในระบบแบบนี้ยากมาก มันเหมือนเราต้องหาแฟนกันรายวันเลยทีเดียว เพราะจะต้องมีความชอบเหมือนกัน และขาดในสิ่งที่อีกคนไม่มี  ที่สำคัญต้องเห็นคุณค่าของของที่จะแลกกันเหมือนๆกันด้วย
         ส่วน Sharing Economy หรือ ระบบเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน เป็นแนวโน้มการทำธุรกิจสมัยใหม่ ซึ่งอยู่บนพื้นฐานการใช้เงินเป็นสื่อกลาง ซึ่งจะตัดปัญหาการจับคู่ไปได้ระดับหนี่ง Sharing Economy หรือระบบเศรษฐกิจแบบแบ่งปันนี้ถ้าจะเปรียบเทียบจะมีความคล้ายกับระบบการเช่ามากกว่า แต่ด้วยการพัฒาของเทคโนโลยีที่กำลังเกิดขึ้น ณ ขณะนี้ ทำให้แก้ปัญหาที่สำคัญในระบบเช่าได้ ซึ่งก็คือความเชื่อใจ และการหาตลาด ซึ่งก็ทำให้รูปแบบการทำธุรกิจมีความซับซ้อนมากขึ้น  เช่น เราไม่จำเป็นต้องสต๊อกสินค้าจำนวนมากเพื่อให้เช่า หรือเราไม่ต้องพร้อมจะให้เช่าตลอดเวลา แต่เราสามารถให้เช่าเฉพาะตอนที่พอใจได้ และแม้กระทั่งเราไม่เป็นต้องเป็นเจ้าของสินค้าที่จะใช้เช่าเลย!
         เพื่อให้เห็นภาพ ขอยกตัวอย่างสักสองตัวอย่างประกอบนะครับ  ตัวอย่างแรกคือ UBER หรืออีกบริษัทหนึ่งในลักษณะเดียวกันคือ Grab ซึ่งเป็นบริการรถโดยสาร  ในแง่ผู้โดยสาร Application สองตัวนี้ทำให้เราสามารถเรียกรถได้ในเวลาที่ต้องการ และในสถานที่ที่ต้องการ และ ทราบราคาล่วงหน้า ส่วนที่น่าสนใจคือฝั่งผู้ให้บริการ ซึ่งสำหรับ UBER ผู้ให้บริการไม่จำเป็นต้องเป็นคนขับ TAXI และ ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของรถ TAXI ด้วยเราทุกคนสามารถเป็นผู้ให้บริการได้ ที่น่าสนุกคือเราจะสามารถเลือกเวลาที่เราอยากจะให้บริการ หรือแม้กระทั่งเฉพาะเส้นทางที่เราต้องการได้ เช่น แทนที่ผมจะขับรถกลับบ้านคนเดียว สมัยก่อนเราก็อาจจะหาเพื่อนที่สนิทกันร่วมทางกันไป จะได้ประหยัด  ตอนนี้ผมก็สามารถทำคล้าย ๆ กันคือยังคงแชร์รถอยู่ แต่ได้รายได้เพิ่มเติมจากการขับรถกลับบ้านด้วย
          อีกตัวอย่างหนึ่งคือ Airbnb เป็นเว็บไซต์ที่ให้บริการในการเช่าที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการประสบการณ์ที่สามารถเข้าถึงวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นจริง ในแง่ผู้รับบริการก็ไม่ต่างกับการมีช่องทางในการหาที่พักได้สะดวกขึ้น แต่ที่น่าสนใจก็คือผู้ให้บริการครับ เช่น ถ้าผมมีบ้าน ผมอาจจะมีช่วงเวลาที่ผมต้องไปต่างจังหวัด และในช่วงเวลาเช่นนั้น แทนที่จะปล่อยห้องไว้เฉย ๆ ผมก็สามารถให้เช่าในช่วงเวลานั้นได้ ซึ่งก็ถือว่าได้ช่วยค่าผ่อนบ้านไป​ ลักษณะนี้ก็คล้ายๆ  กับเวลาที่มีเพื่อนมาเยี่ยมบ้าน และเราก็ให้เขาพัก เราก็แชร์ห้องพักให้เขา แต่ในกรณีนี้เราจะได้เงินค่าผ่อนบ้านเพิ่มมา
      ทั้งสองตัวอย่างนี้มีความพิเศษมากขึ้นไปอีกครับ คือทั้ง UBER และ Airbnb ผู้ให้บริการไม่ต้องมีสินค้าในการให้เช่าเลย! แต่สามารถหากำไรจากการจับคู่ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่
         นี่แหล่ะครับแนวโน้มของธุรกิจแบบ Sharing Economy ซึ่งจากนี้ไปจะพบเห็นมากขึ้น ซึ่งเป็นการอัพเกรดระบบการเช่าเดิม ลบข้อด้อยเดิมลงด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ อย่างอินเตอร์เน็ตที่แก้ปัญหาการสื่อสาร และระยะทาง อีกทั้งยังเป็นตัวช่วยให้แก่ลูกค้าในการเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกของสินค้า และโปรแกรมอัลกอริทึมต่างๆ ที่ช่วยจับคู่คนที่มีความต้องการตรงกันมาเจอกัน ทั้งหมดเหล่านี้ช่วยยกระดับและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคจากออฟไลน์สู่ออนไลน์ ส่งผลให้ Sharing Economy มีประสิทธิภาพมากในการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค สามารถสังเกตได้จากการเติบโตของ E-commerce ในประเทศไทยที่เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 13% ในช่วงปี 2014-2016 ที่ผ่านมานี้

         ถ้าเช่นนั้น การบริโภคร่วมกัน หรือ Collaborative Consumption ใน Sharing Economy ในบริบทของสังคมไทยที่กำลังก้าวเข้าสู่ Thailand 4.0 จะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร

           ถ้าดูจากความสำเร็จของ Airbnb, Uber และ  Grab ในประเทศไทย ก็ต้องตอบว่าน่าจะพัฒนาไปได้ เพราะ โครงสร้างพื้นฐานที่จะส่งเสริมในนโยบาย Thailand 4.0 เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีพื้นฐาน อาทิ อินเตอร์เน็ต และอุปกรณ์ดิจิตอลต่างๆ มีการเติบโตและได้รับความนิยมสูง นำไปสู่พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนมาสนใจการสั่งซื้อออนไลน์มากยิ่งขึ้นจึงเอื้อต่อการเกิด collaborative
 consumption อยู่แล้ว ร่วมด้วยนโยบายของภาครัฐที่สนับสนุน E-commerce ส่งผลให้ธุรกิจภายใต้ sharing economy เติบโตไปได้ และเป็นแนวทางที่ควรส่งเสริมด้วย เพราะจะทำให้การใช้ทรัพยากรต่างๆ ทำได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและเป็นการลดการสูญเปล่าลง
        แต่ที่จะเป็นประเด็นสำคัญคือ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลง ก็จะมีคนได้ประโยชน์ และคนเสียประโยชน์ ขณะเดียวกันกฏระเบียบก็ต้องคอยปรับตัวตาม ซึ่งที่ผ่านมากฎระเบียบต่างๆ จะไปช้ากว่าการเปลี่ยนแปลง ยกตัวอย่างกรณีของ  UBER ที่ประสบความสำเร็จมาในหลายประเทศ และก็มีปัญหาในหาลายประเทศเช่นกัน  ในแง่ผู้บริโภค ผู้บริโภคได้ความสะดวกมากขึ้นในหลายๆด้าน ในขณะเดียวกฎระเบียบก็ไล่ตามไม่ทัน ทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับการคุ้มครองเท่าที่ควร  เช่นเดียวกันกับ Airbnb เราสามารถหาที่พักได้สะดวกขึ้น  แต่ในเรื่องความปลอดภัยและความยุติธรรมก็ยังเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ควรจะได้รับการดูแลมากขึ้น
               

           วัฒนธรรมไทย วัฒนธรรมองค์กร ธุรกิจ และราชการ กับ Sharing economy มีความสัมพันธ์กันอย่างไร เสริมกันหรือถ่วงกัน

        วัฒนธรรมไทยมีลักษณะเอื้อเฟื้อ เห็นอกเห็นใจ และแบ่งปันกันเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ดังนั้นการรับแนวคิด Sharing Economy จึงไม่ใช่เรื่องยาก และโดยธรรมชาติเราก็มีการหยิบยืมกันเป็นปกติอยู่แล้ว
        คนไทยมีค่านิยมการเอื้อเฟื้อ  ผู้น้อยเคารพผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นวัฒนะธรรมที่มีคุณค่า แต่วัฒนธรรมนี้ก็เป็นดาบสองคมในแง่การพัฒนา Sharing Economy อย่างที่กล่าวไว้ตอนต้นว่า Sharing Economy มีลักษณะให้เช่า ซึ่งต้องพึ่งความเชื่อถือ และ รายได้ที่ดีพอสมควร หากเป็นการให้ยืมโดยไม่ได้รับค่าเช่าคืนเลย ก็จะทำให้ระบบเศรษฐกิจแบบนี้ไปได้ยาก แต่ก็เพราะวัฒนธรรมเอื้อเฟื้อนี่เองจะทำให้เรากล้าเก็บค่าเช่าเพื่อนเราไหม กล้าเก็บค่าเช่าผู้ใหญ่ไหม?  ค่านิยมความความเป็นธรรมเหล่านี้อาจจะต้องค่อยๆ ปรับ ทว่าการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยก็ทำให้สามารถแก้ปัญหานี้ไปได้ส่วนหนึ่ง กล่าวคือขอบเขตการจับคู่ให้บริการจะกว้างไปกว่าแค่วงที่เรารู้จัก และการชำระค่าบริการก็ตรงไปตรงมามากขึ้น
            อีกวัฒนธรรมหนึ่งที่อาจจะเป็นอุปสรรคได้ คือวัฒนธรรมสบายๆ ไม่ถือสาหาความกัน  (ผมพยายามเลี่ยงวลีไม่รับผิดชอบ) ซึ่งวัฒนธรรมนี้น่าจะเป็นวัฒนธรรมของชาวเอเชีย ไม่เฉพาะคนไทย มีตัวอย่างหนึ่งเกิดขึ้นที่ประเทศจีน มีนักธุรกิจเห็นว่าใครๆ ก็ใช้ร่ม และการถือไปถือมาเป็นเรื่องไม่สะดวก จึงคิดธุรกิจให้เช่าร่ม เพียงแค่เราลงทะเบียนผ่าน Application เราก็จะสามารถไปหยิบร่มตามจุดบริการ และนำไปคืนที่จุดอื่นๆ ได้   พอให้บริการมาไม่กี่เดือนยอดผู้ใช้สูงขึ้นมาก แต่ทว่าผู้ใช้ส่วนใหญ่ไม่เอาร่มมาคืน ทำให้บริษัทนี้ต้องเจ๊งไป
             สรุปว่า วัฒนธรรมบางอย่างที่จะส่งเสริม บางอย่างที่เป็นตัวฉุดเทคโนโลยีแก้ได้  วัฒนธรรมบางอย่างเทคโนโลยีก็ช่วยไม่ได้

            ผู้ประกอบการต้องปรับตัวรองรับ Sharing Economy อย่างไร

          อย่างแรกผู้ประกอบการจะพึ่งการขายหน้าร้านแต่เพียงอยากเดียวคงไม่ได้ จะต้องหันมาค้าขายผ่านทางโลก Cyber Space มากขึ้น และในการเกาะกระแส Sharing Economy สามารถทำได้ 3 ทาง แบ่งตามความยากดังนี้
             ทางแรก คือเพิ่มช่องทางการขายผ่านทาง Cyber Space อย่าง โรงแรม หรือผู้ให้บริการ Taxi ก็ทำอยู่ ช่องทางนี้เป็นการปรับตัวที่ลงแรงน้อยที่สุด
         ทางที่สอง คือเปิดช่องทางบริการใหม่ซึ่งเราอาจจะเคยทำได้มาก่อน แนวคิดคือเป็นร้านให้เช่าของที่เรามี โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องมีเยอะ เช่น หากเราดำเนินธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง เราอาจจะให้เช่าอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ  ในช่วงเวลาในระหว่างรองานอื่นๆ หรือถ้าเรามีอุปกรณ์ที่หลากหลาย เช่น สว่านที่มีลักษณะต่างๆ ซึ่งโดยมากจะไม่ได้ใช้ เราก็สามารถหาตลาดให้กับสินค้าเหล่านี้ในระยะสั้น ๆ ได้
        ทางที่สาม เป็นช่องทางที่สำคัญที่สุดคือ “สร้างตลาด” ขึ้นมาเหมือนกับ Airbnb หรือ UBER คือเป็นผู้จับคู่ผู้บริการและผู้ให้บริการพร้อมกับบริการอื่นๆ ซึ่งเข้าข่าย Start Up นั่นเอง บริการจับคู่ในประเทศไทยยังมีอีกหลายรายการที่ยังไม่มี Platform รองรับ เช่น การหาแม่บ้าน รปภ. คนขับรถ คนทำงานต่างๆ ที่อาจจะเป็นการทำงานในลักษณะไม่กี่วัน หรือ ในเฉพาะช่วงเวลาที่ตรงกันของผู้ให้บริการและผู้รับบริการ
ในเมื่อ Collaborative Consumption หมายถึง การบริโภคแบบใหม่ในตลาดการค้าที่ไม่ได้มาจากการซื้อขาย แต่มาจากการแลกเปลี่ยน ให้ใช้ร่วมกันหรือการเช่า ผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งพฤติกรรมการบริโภคจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ก่อนการเข้ามามีบทบาทของอินเตอร์เน็ต คงไม่ผิดนักที่จะบอกว่า เทคโนโลยีได้มอบความสามารถในการสร้างตัวตนในการเป็นเจ้าของกิจการหรือผู้ผลิตให้กับผู้บริโภค โดยไม่จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรมหาศาลอีกต่อไป  แต่จะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น ปัจจัยหลักเลยก็คือความเสถียรของเทคโนโลยี และการเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ พูดง่ายๆ เน็ตเดี้ยงก็จบ
แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ Sharing Economy ไม่ได้จำกัดเพียงกลุ่มของผู้ที่มีกำลังผลิต หรือมีทุนทรัพย์มาก เพราะเทคโนโลยีได้เปิดโอกาสให้คนธรรมดามีศักยภาพที่เท่าเทียมกันในโลกออนไลน์ ทั้งในฐานะของการเป็นผู้ให้บริการ และการเป็นสื่อที่ให้ข้อมูล หรือที่พวกเราชอบเรียกกันว่า รีวิวเวอร์บล็อกเกอร์ หรือแม้แต่ self-made (celebrities) youtubers ปั่นขยี้ตัวเองให้ดังขึ้นมาจากการโพสต์คลิปในยูทูบ ดังนั้น การสื่อสารจึงมีทั้งแบบ B2C (Business to Customer) และ P2P (Peer to Peer)
อาจารย์ธีรวุฒิแซวว่าถ้าหากเจ้าคุณปู่เดินทางข้ามกาลเวลามายังยุคปัจจุบัน พวกเราเหล่าผู้บริโภคคงต้องโดนมะเหงกกันคนละทีสองที พร้อมถูกบ่นจนหูชาว่าพวกเรากล้านอนในบ้านของคนแปลกหน้า นั่งรถกับคนแปลกหน้า และเชื่อความคิดของคนแปลกหน้าได้อย่างไรกัน
เมื่อก่อนความคิดเหล่านี้คงไม่ต่างจากไอเดียบ้าๆ แต่ตอนนี้มันกลับกลายเป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนให้การยอมรับ การเชื่อใจคนแปลกหน้าที่ไม่เคยรู้จัก กลับกลายเป็นเรื่องปกติ  สงครามการค้าของผู้บริโภคและผู้ผลิตกลายเป็นสถานที่ที่ไม่สามารถแบ่งฝ่ายได้อย่างชัดเจนอีกต่อไป เพราะที่บุคคลหนึ่งเป็นได้ทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิตที่มีอำนาจเกือบเท่าเทียมกัน ข้อมูลไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อสงครามการค้าอีกต่อไป เพราะเราสามารถรู้เขาได้ง่ายดายเพียงนิ้วสัมผัส
ใครจะคาดเดาได้ว่าในอนาคต เทคโนโลยี หรือ ที่ผู้คนชอบเรียกกันว่า Disruptive technology ที่ผมขอแปลเป็นไทยว่า เทคโนโลยีวินาศ เพราะมันทำให้เรายุ่งวุ่นวายจนแทบจะปรับตัวไม่ทัน จะนำพาพวกเราไปยังแห่งหนใด 

::HUNT Magazine Issue40
www.domnickhunterrl.com
www.hunt-magazine.com

Comments