Corruption 4.0


Corruption 4.0

                ไม่ได้มีเจตนาประชด แต่ไม่เคยเชื่อแบบคนโลกสวยเลยว่าคอร์รัปชั่นหรือการฉ้อราษฎร์บังหลวงจะหายไปจากประเทศไทย หรือโลกใบนี้ เพราะรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่คู่กับสันดานมนุษย์ในฐานะสัตว์สังคม ต่างกันที่ดีกรีและรูปแบบของการคอร์รัปชั่น ผมจึงต้องพึ่งนักเศรษฐศาสตร์ให้มาช่วยไขคำตอบว่าต้นทุนของมันคืออะไร และถ้านักธุรกิจต้องอยู่กับสิ่งเหล่านี้ เราจะบริหารมันอย่างไร
                ในฐานะศิษย์เก่า ผมจึงต้องกลับมากวนคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะของแหล่งข้อมูลที่มีนักวิชาการชั้นนำเช่นเคย คราวนี้ได้รับเกียรติจากอาจารย์.วีระวัฒน์ ภัทรศักดิ์กำจร มาชี้ให้เราเห็นเป็นฉากๆ
                อาจารย์วีระวัฒน์ปูพื้นเพื่อสร้างความเข้าใจกับคำว่า "คอร์รัปชั่น" ซึ่งเป็นประเด็นร้อนในประเทศไทยเสมอ ยกตัวอย่างเช่น ในแต่ละปีจะมีการประกาศค่าดัชนีการรับรู้คอร์รัปชัน (Corruption Perception Index: CPI) ซึ่งดึงดูดความสนใจของสำนักข่าวจำนวนมาก ดัชนีนี้มาจากการสำรวจความรู้สึกของคนในประเทศต่าง ๆ ต่อการคอร์รัปชั่น ในปี พ.ศ. 2559 ประเทศไทยได้ 35 จาก 100  คะแนน (โดย 0 หมายถึงคนรู้สึกว่าประเทศตัวเองมีคอร์รัปชั่นค่อนข้างสูง และ 100 คือค่อนข้างปลอดคอร์รัปชัน) คิดเป็นลำดับที่ 101 จาก 176 ประเทศ (หรือถ้าคิดว่ามีทั้งหมด 100 ลำดับ ประเทศไทยก็จะอยู่ประมาณที่ 58) หากเจาะลึกเป็นมูลค่า ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI) พบว่า ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาคอร์รัปชั่นในประเทศไทยจากกรณีใหญ่ ๆ ที่เป็นเรื่องอื้อฉาวจำนวน 110 เรื่อง ประเมินมูลค่าความเสียหายได้ราว 9.8 แสนล้านบาท ถ้าลองคำนวณเล่น ๆ ก็แปลว่าในแต่ละปี เงินหนึ่งร้อยบาทที่เราหาได้จะหายไปจากระบบเศรษฐกิจประมาณ 60 สตางค์
​                เวลาที่เราได้รับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับคอร์รัปชั่น บ่อยครั้งก็มักจะเกี่ยวโยงกับผลประโยชน์ของชาติในภาพกว้าง มีภาพนักการเมืองคดโกง ที่เป็นตัวการสำคัญของปัญหา หรือเป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการหาช่องว่างในการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อหาผลประโยชน์จากส่วนต่าง ภาพความเข้าใจเหล่านี้อาจทำให้คนทั่วไปรู้สึกว่าเรื่องคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องไกลตัว และไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันมากนัก ทั้งที่จริงแล้ว ปัญหาคอร์รัปชั่นส่งผลกระทบกับชีวิตของเราทุกคนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการขอรับขอเลี่ยงบริการภาครัฐด้วยการจ่ายสินบน การใช้เส้นสายกีดกันโอกาสของผู้อื่น รวมไปถึงเรื่องการลงทุนในสาธารณะประโยชน์ มูลค่าที่สูญหายไปนั้นก็คือทรัพยากรของพวกเราที่ถูกคนกลุ่มหนึ่งหยิบเอาไปนั่นเอง แต่เราอาจไม่ค่อยรู้สึกตัว เพราะ 60 สตางค์จาก 100 บาท ก็คงฟังดูเล็กน้อยจนเราไม่อยากเสียเวลากับเรื่องพวกนี้ (แต่อย่าลืมว่าค่าที่คำณวณออกมานี้นับเฉพาะกรณีใหญ่ ๆ ที่เป็นเรื่องอื้อฉาวเท่านั้น)
                คอร์รัปชั่นนั้นไม่ได้เป็นเรื่องระดับชาติอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเรื่อง เล็กและใกล้ตัวกว่าที่เราคิด เล็กในที่นี้หมายถึงขนาดความเสียหาย จำนวนคนที่เกี่ยวข้องและรับรู้ ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้คำนิยามคอร์รัปชั่นไว้ว่าคอร์รัปชั่นคือการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน โดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่หรืออำนาจที่ได้รับมอบหมายมาเป็นเครื่องมือกระทำการทุจริต ซึ่งพฤติกรรมนั้นอาจจะผิดหรือไม่ผิดกฎหมาย แต่ขัดกับหลักจริยธรรม หรือขัดกับการคาดหวังที่สาธารณะชนมีต่อบทบาทของบุคคลสาธารณะ ถ้ายึดนิยามนี้เป็นฐานในการทำความเข้าใจ ก็จะพอเข้าใจได้ว่าการสถาปนา อำนาจเกิดขึ้นได้ในหลายระดับภายใต้ความสัมพันธ์หลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ระดับองค์กรเล็ก ๆ ไปจนถึงระดับชาติ การใช้อำนาจที่มีในทางมิชอบอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ว่าในระดับไหน ก็นับว่าเป็นคอร์รัปชั่นเหมือนกัน
​                เมื่อเราเห็นแล้วว่าคอร์รัปชั่นนั้นใกล้ตัว กว้างขวาง แต่ซับซ้อน การศึกษาด้วยข้อมูลในบางครั้งทำได้ค่อนข้างจำกัด เพราะธรรมชาติตัวข้อมูลเรื่องคอร์รัปชั่นนั้นหายากหรือไม่สมบูรณ์ ตัวแปรบางอย่างยากจะวัดหรือตีค่า (quantify) ออกมาได้อย่างชัดเจน นอกจากนั้นความสัมพันธ์และการตอบสนองของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการคอร์รัปชั่นซับซ้อนไปกว่าเรื่องต้นทุน-ผลประโยชน์  ยกตัวอย่างง่าย ๆ ในสมัยที่อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ถ้าพบว่านักศึกษาลอกข้อสอบก็จะไล่ออกทันที แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็พบว่าแม้จะลงโทษสถานหนักที่สุด ก็ไม่ได้ทำให้ปัญหาทุเลาลงนัก ปัจจุบันจึงปรับลดโทษเหลือเพียงให้พักการเรียน (สอดคล้องกับโทษประหารชีวิตที่ยังมีการบังคับใช้อยู่ในหลาย ๆ ประเทศ แต่ไม่ได้ทำให้อัตราอาชญากรรมต่ำกว่าประเทศที่ไม่มีโทษดังกล่าว) ดังนั้นการวิเคราะห์ในมุมมองเชิงสถาบัน เช่น จารีต ประเพณี กฎหมาย ระบบการเมือง ในสภาพต่าง ๆ เพื่อทำความเข้าใจว่าคอร์รัปชั่นที่ปรากฏขึ้นโดยมีปัจจัยต่อต้านและน้อมนำอย่างไร และการวิเคราะห์ในมุมมองเชิงพฤติกรรมเชื่อว่ามนุษย์มีเหตุมีผลอย่างมีขอบเขตเท่านั้น (bounded rationality) เมื่อมนุษย์ไม่สามารถใช้เหตุและผลได้อย่างสมบูรณ์แบบ มนุษย์จึงตัดสินใจปะปนไปด้วยระดับเหตุผลจนถึงระดับสัญชาตญาณ ก็จะทำให้เข้าใจปัญหาคอร์รัปชั่นได้ดียิ่งขึ้น
                ยกตัวอย่างจากผลงานทีมวิจัยของ ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในภาพสังคมไทย ทีมวิจัยลงพื้นที่สอบถามว่า การทำความดีและ คนดีคืออะไร พบว่าคนไทยนิยามสองคำนี้ต่างกัน การทำความดีโดยมากเห็นว่าเป็นการทำประโยชน์เพื่อสาธารณะ แต่ คนดีคือคนที่รู้คุณ กตัญญู และตอบแทนกับคนใกล้ชิด และการเปรียบเทียบในระดับนานาชาติ ผลการสำรวจ World Values Survey พบว่าค่านิยมที่คนสอนลูกในแต่ละที่แตกต่างกัน ในประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ให้ค่ากับการเคารพสิทธิสาธารณะ การรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น และการช่วยเหลือคนแปลกหน้า ในขณะที่ประเทศไทยให้ค่ากับการเชื่อฟังผู้ใหญ่ ความมีระเบียบวินัย และการเรียนหนังสือสูงๆ แสดงให้เห็นความลักลั่นของคุณค่าและการเป็น คนดีในสังคมไทย หนำซ้ำยังลดทอนความรู้สึกผิดในการเอื้อประโยชน์ให้กับคนใกล้ชิดมากกว่าสาธารณะ
                ผลการศึกษาดังกล่าวชวนให้เราตั้งคำถามกับเหตุการณ์ง่าย ๆ ที่พบเห็นได้เป็นประจำ เช่น การแซงคิวขณะรอรถไฟฟ้า ซื้ออาหาร หรือขับรถแทรกในเลนกลับรถ ทำไมบ่อยครั้งคนที่เข้าคิวไม่กล้าตักเตือนว่ากล่าวคนที่แซงคิว เป็นเพราะรู้สึกว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย หยวน ๆกันได้ หรือไม่อยากต่อความยาวสาวความยืด ถ้าเป็นอย่างนั้นแปลว่าตัวเราเองก็กำลังช่วยสร้างวัฒนธรรมไม่ลงโทษคนผิด และไม่สร้างค่านิยมของ การทำความดีด้วยการทำสิ่งที่ถูกต้องไปพร้อม ๆ กัน หรือลองนึกย้อนไปถึงทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย มักมีการรณรงค์ด้วยการเปรยคำขวัญ เลือกคนดีเข้าสภาปัญหาคือ คนดีในที่นี้จะเป็นคนที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับคอร์รัปชั่นหรือไม่ มีคุณลักษณะร่วมหรือแตกต่างกันอย่างไร และที่สำคัญคือ คนดีคือคนที่คำนึงถึงสิทธิ ประโยชน์สาธารณะ หรือทำเพื่อพวกพ้อง
              หรือถ้าลองมองปัญหาในเชิงระบบบ้าง เช่น องค์กรปกครองส่วนตำบลแห่งหนึ่งเปิดให้เอกชนเข้าร่วมประมูลการก่อสร้างถนนในตำบล เมื่อดำเนินการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ ปรากฏว่าใช้ได้ไม่นานถนนก็ชำรุดทรุดโทรม เมื่อตรวจสอบย้อนหลังจึงพบว่าวัสดุที่นำมาใช้ก่อสร้างไม่ได้มาตรฐานตามที่วางไว้ในกรอบราคากลางของการจัดซื้อจัดจ้าง เศรษฐศาสตร์สถาบันจะมองถึงกลไกในการจัดซื้อจัดจ้างว่ามีช่องว่างตรงไหน แม้ว่ามีการระบุว่าข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างจะต้องเปิดเผยให้สาธารณะรับรู้ ภายใต้กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หลักเกณฑ์ และวิธีการที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด แม้ว่าหลักการในการกระจายอำนาจไปยังพื้นที่เล็กๆ นั้นเพื่อลดต้นทุนในการตรวจสอบของส่วนกลาง และคาดหวังว่าประชาชนในพื้นที่จะมีส่วนร่วมในการคานอำนาจ และกำหนดทิศทางการใช้จ่ายงบประมาณ แต่หลักการดังกล่าวอาจใช้ไม่ได้ผล เพราะไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ เป็นต้นว่าหากประชาชนในตำบลหนึ่งยึดอาชีพทำประมงเป็นหลัก (จากประสบการณ์ตรงของผู้เขียน) ผู้ชายจะรับหน้าที่ออกเรือในช่วงเช้ามืดถึงช่วงกลางวัน และกลับมาพักผ่อนในช่วงบ่าย ผู้หญิงส่วนใหญ่ก็จะรับหน้าที่ต่อจากนั้น อาทิ แกะเปลือกกุ้ง ปู จัดใส่หีบห่อ หรือแปรรูปเพื่อนำไปขาย เวลาในแต่ละวันจึงหมดไปกับการหาเลี้ยงชีพ และไม่สามารถไปเข้าร่วมประชุมหารือรับรู้การดำเนินงานของส่วนกลางได้
                จากตัวอย่างข้างต้น น่าจะทำให้พอเห็นภาพได้ว่าคอร์รัปชั่นไม่ได้เป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่สภาพแวดล้อม บรรยากาศ วิถีชีวิต รวมถึงบรรทัดฐานต่างๆ ในสังคมล้วนมีส่วนสำคัญต่อการกำหนดพฤติกรรมทั้งสิ้น ภาพความเข้าใจนี้อาจมาพร้อมกับความยากลำบากในการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องใช้พลังและเวลามหาศาล โชคดีที่หลายๆ ประเทศบนโลกมีบทเรียนแห่งความสำเร็จให้เราเรียนรู้และเดินตามได้มากมาย บทเรียนเหล่านั้นชี้ไปยังวิถีประชาธิปไตยที่คนจำนวนมากมีส่วนร่วมในการคัดง้างและตรวจสอบ ความสำเร็จในการตัดตอนคอร์รัปชั่น สุดท้ายก็จะกลับมาในรูปแบบทางเศรษฐกิจแทบทั้งสิ้น เพราะคนรู้สึกว่าสิทธิของตนได้รับความคุ้มครอง เกิดความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย และต้นทุนที่ต้องจ่ายไปโดยสูญเปล่าน้อยลง บรรยากาศในสังคมในการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจย่อมดีขึ้นเป็นลำดับถัดมา

                คำถามสุดท้ายจึงถูกโยนกลับมาที่ประชาชนที่เป็นพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงแล้วว่า เราเลือกจะอยู่ในสังคมแบบใด 

Comments